บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ปัจจุบันได้หยุดให้บริการสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพทุกสาขาที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัททั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวม 66 สาขาเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ ด้านบอร์ดบริหารระดมสมองงัดมาตรการหลายขั้นตอน เรียกความเชื่อมั่นลูกค้าเข้าใช้บริการ หลังจากรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลาย LOCKDOWN เหตุจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยดีขึ้น
ผุดมาตรการคุมปลอดภัย ขานรับ LOCKDOWN เริ่มต้นเปิดบริการบางส่วน
นายวิบูลย์ อุตสาหจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ในสัปดาห์นี้ (20-24 เม.ย.) คณะกรรมการบริษัทได้นัดประชุมเพื่อกำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมหากรัฐบาลตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ LOCKDOWN หลังจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลผ่อนปรน LOCKDOWN บ้างแล้ว แต่บรรยากาศโดยรวมเชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่คงยังไม่กล้าเข้ามาใช้บริการมากนักเพราะยังไม่เชื่อมั่นอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัยแบ่งเป็นหลายขั้นตอนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมรายละเอียดก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบแนวทางปฎิบัติอีกครั้งปลายเดือน เม.ย.นี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ พนักงาน ถ้ามีความปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงก็จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นกลับมาเข้าใช้บริการ ดังนั้น มาตรการเบื้องต้นจะเน้นด้านความสะอาดและความปลอดภัยของพนักงานนวด รวมถึงการนำเครื่องมือที่ให้บริการต้องมีความปลอดภัยต้องมาอันดับแรก
มุมมองการผ่อนปรน LOCKDOWN อยากให้รัฐบาลจำกัดความเสี่ยงยังไม่ควรรีบเปิดสถานที่ที่มีการชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก แต่บางธุรกิจที่สามารถดูแลความปลอดภัยด้วยตัวเองก็อาจเปิดบริการได้เป็นบางส่วนก่อน เพื่อให้สามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี
กรณีธุรกิจ SPA ภายหลังรัฐบาลผ่อนปรนให้เปิดการได้แล้ว อาจปรับแผนเปิดให้บริการลูกค้าในจำนวนจำกัด ไม่ได้เปิดรับเต็มจำนวนเหมือนในภาวะปกติ เพื่อทำให้ควบคุมดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนคงอยากให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงหากการแพร่ระบาดลุกลามในรอบ2 เหมือนกับสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นที่เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา หากเกิดขึ้นจริงคงดูแลได้ยากกว่าในปัจจุบันแน่นอน ในมุมมองส่วนตัวคิดว่ามาตรการ LOCKDOWN ควรใช้อีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว”
หวั่นงบ Q2/63 แย่ที่สุดเหตุไม่มีรายได้-ปิดทุกสาขา
นายวิบูลย์ กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 มีโอกาสย่ำแย่มากที่สุดรอบปีนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากการหยุดให้บริการชั่วคราวทุกสาขา อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลปลด LOCKDOWN มีความชัดเจนผ่านไป 2-3 เดือน บริษัทพร้อมทบทวนประมาณการรายได้ปีนี้ใหม่จากเดิมที่คาดเติบโต 20%
กลยุทธ์รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้ นายวิบูลย์ กล่าวว่า ลักษณะธุรกิจ SPA ผู้เข้าใช้บริการส่วนมากเกินกว่า 50% เป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนเป็นหลัก แม้ว่าพนักงานจะให้บริการกลุ่มชาวจีนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่บริษัทได้ระมัดระวังและใช้มาตรการป้องกันมาโดยตลอด ทำให้พนักงานบริษัทกว่า 1,000 คนไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะท้อนว่ามาตรการดูแลพนักงานเพิ่มความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในเดือน มี.ค.บริษัททยอยหยุดให้บริการชั่วคราวในสาขาที่มีความเสี่ยง และปัจจุบันหยุดให้บริการชั่วคราวทุกสาขารวม 66 สาขาทั่วประเทศเป็นไปตามนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล
กอดเงินสดเป็นกันชนรับมือหากโควิด-19 คุมยาก
นายวิบูลย์ กล่าวถึงแนวทางบริหารสภาพคล่องว่า ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอการดำเนินกิจการ เป็นเงินทุนที่เดิมเตรียมไว้ใช้ขยายสาขาใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ต้องชะลอแผนขยายสาขาไปก่อนเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ในบริษัท ซึ่งกระแสเงินสดในขณะนี้สามารถประคับประคองกิจการภายใต้สมมติฐานกรณีไม่สามารถเปิดให้บริการทุกสาขาเป็นระยะเวลา 1 ปี
“แม้ว่าธุรกิจ SPA ปิดให้บริการชั่วคราวทุกสาขาไม่มีรายได้เข้ามาในบริษัท แต่ใช้กลยุทธ์ด้วยการลดค่าใช้จ่ายต่างๆให้น้อยที่สุด เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน หรือค่าจ้าง Outsource เพื่อให้เกิดผลขาดทุนสะสมให้น้อยที่สุด เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ปกติจะสามารถกลับมาทำกำไรได้เช่นเคย”
“ช่วงนี้ยิ่งดิ้น ก็ยิ่งเจ็บ เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ดี บริษัทมีความเชี่ยวชาญธุรกิจนี้อยู่แล้ว หากไปดิ้นรนทำธุรกิจอื่น คิดว่าคงได้ไม่คุ้มกับเสีย ดังนั้นคิดว่าตอนนี้คงเป็นการรอเพื่อให้ได้จังหวะสร้างการเติบโตรอบใหม่ดีกว่า”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 63)
Tags: LockDown, SPA, วิบูลย์ อุตสาหจิต, สปา, สยามเวลเนสกรุ๊ป, หุ้นไทย