นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะแรก ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421กิโมเมตร งบประมาณการก่อสร้าง จำนวน 33,982 ล้านบาทว่า ผลงานสำหรับเดือนมีนาคม 2563 มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน 2.323% จากแผนงานที่กำหนดไว้ 4.971 %
โดยสรุปความคืบหน้าโครงการโดยรวม ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าคิดเป็น 55.821% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนงาน 7.876% โดยจากแผนงานที่กำหนดไว้ คือ 63.697% ของโครงการ ซึ่งมีสาเหตุเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างหลายจุด ทั้งนี้ ได้มีการปรับแบบเพื่อลดผลกระทบและให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันได้เร่งรัดงานโยธาให้แล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2564 คาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2565
สำหรับการก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ได้แก่
1.ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 1 (นครปฐม – หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แผนงานกำหนดไว้ 73.992% ความคืบหน้าผลงาน 54.764% ล่าช้ากว่าแผน 19.228% โดยมี บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
2.ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แผนงานกำหนดไว้ ร้อยละ 57.663 ความคืบหน้าผลงาน 61.724% สร้างเร็วกว่าแผนงาน 4.061% โดยมี บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
3.ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน แผนงานกำหนดไว้ 85.50% ความคืบหน้าผลงาน 62.92% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 22.58% โดยมี บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
4.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน แผนงานกำหนดไว้ 58.531% ความคืบหน้าผลงาน 53.522% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 5.009% โดยมี กิจการร่วมค้า เคเอส-ซี เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) ระยะทาง 79 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แผนงานกำหนดไว้ 41.628% ความคืบหน้าผลงาน 45.491% สร้างเร็วกว่าแผน 3.463% โดยมี กิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาให้แล้วเสร็จเสร็จตามแผนงานในปี 2564 คาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และพร้อมเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2565 สืบเนื่องจากปัจจุบันเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ-ชุมพร เป็นรางเดี่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนั้น หากการก่อสร้างเมื่อรถไฟทางคู่เสร็จจะใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว
รวมทั้ง เป็นการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มความรวดเร็วและความตรงต่อเวลาในการเดินขบวนรถไฟ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะเป็นการลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมต่อระบบการขนส่งเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร เช่น รถเช่า เรือท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 63)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟทางคู่, รฟท., วรวุฒิ มาลา