นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า การออกพ.ร.ก.เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยวงเงินให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ชั่วคราว มองว่าเป็นประโยชน์ทั้งธนาคารพาณิชย์และลูกค้า เนื่องจากธนาคารมีแหล่งเงินที่ต้นทุนต่ำเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบได้ ประกอบกับการที่มีกระทรวงการคลังมาช่วยเหลือในการรับภาระหนี้บางด้วย ทำให้ความเสี่ยงของธนาคารลดลง
ในช่วงนี้แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ต้องการช่วยเหลือลูกค้า แต่ทุกธนาคารก็ต้องมีการประเมินความเสี่ยงประกอบด้วย ทำให้การปล่อยวงเงินกู้ช่วยเหลือลูกค้าหากไม่มีวงงิน Soft loan ของธปท.เข้ามาสนับสนุนจะทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะทุกธนาคารต้องระมัดระวังหนี้เสียด้วย
ขณะที่กลุ่มลูกค้าของธนาคารที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีก็จะได้ประโยชน์ในการที่มีสินเชื่อเข้าไปเสริมสภาพคล่อง ช่วยประคองธุรกิจให้สามารถไปต่อได้ และมีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูง ซึ่งหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติก็มีโอกาสฟื้นกลับมา แม้ว่าจะใช้เวลาในการฟื้นกลับมาก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อนี้อาจกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ลูกค้าเอสเอ็มรายเล็กอาจจะต้องไปใช้สินเชื่อ Soft loan จากธนาคารออมสินที่ให้มาแทน
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.จัดทำ Soft loan สามารถช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในตอนนี้มาตรการที่ภาครัฐออกมาจะต้องเข้ามาช่วยเหลือในทุกภาคส่วน เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ทุกคนได้รับผลกระทบด้วยกัน การที่ธปท.ออกสินเชื่อ Soft loan มาในครั้งนี้ถือเป็นแหล่งเงินทุนให้กับธนาคารพาณิชย์นำไปช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารต่อ ซึ่งหากไม่มีในส่วนนี้ออกมา มองว่าอาจจะค่อนข้างลำบากในการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์เองได้รับผลกระทบไปด้วย หากลูกค้าที่ขอสินเชื่อไปไม่สามารถมาชำระหนี้ได้
นอกจากนี้การที่ภาครัฐช่วยกระจายความเสี่ยงในการรับความเสียหายบางส่วนที่เกิดขึ้นจากหนี้เสียในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ทำให้ธนาคารมีเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง จากในช่วงปัจจุบันที่หากธนาคารปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือลูกค้าไปเอง อาจจะมีความเสี่ยงที่มากขึ้นกว่าภาวะปกติ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่แน่ชัดว่าจะคลี่คลายลงในช่วงใด
ส่วนลูกค้าของธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็จะได้สินเชื่อในส่วนนี้ไปช่วยเหลือทำให้ยังสามารถมีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในการพยุงกิจการเอาไว้ ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวกลุ่ลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายกลางขึ้นไปที่กู้สินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มาตรการของ ธปท.ที่ออกมาสะท้อนถึงความพยายามและความตั้งใจของทางการที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยมุ่งเน้นการช่วยเสริมสภาพคล่องของระบบการเงินไทย ซึ่งการออกพ.ร.ก.เพื่อจัดตั้ง Soft loan ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปช่วยลดปัญหาสภาพคล่อง และเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และการที่กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยแบ่งรับความเสียหายจากสินเชื่อในส่วนนี้ไปด้วย ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจมากขึ้นนการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารอยู่แล้ว เพราะมีความเสี่ยงที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของการเบิกใช้และการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ Soft loan ในครั้งนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายเงื่อนไขที่ทางธนาคารพาณิชย์จะพิจารณา และความพร้อมของลูกค้า แต่ถือว่าลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีรายกลางขึ้นไปซึ่งเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารที่ใช้วงเงินสินเชื่ออยู่แล้วจะได้รับประโยชน์ในมาตรการนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับวงเงินสินเชื่อไปใช้สามารถมีเงินทุนในการพยุงกิจการให้ไปต่อได้ และธนาคารพาณิชย์ก็ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะลูกค้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับธนาคาร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 63)
Tags: SCB EIC, SME, Soft Loan, ซอฟต์โลน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธปท., พชรพจน์ นันทรามาศ, ยรรยง ไทยเจริญ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, เชาว์ เก่งชน, เอสเอ็มอี