สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือ สภาพัฒน์) เตรียมนำข้อเสนอของภาคเอกชนจากการหารือเวทีคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ และมาตรการเพื่อการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 5 กลุ่มสำคัญ
โดยจะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา แบ่งเป็นข้อเสนอให้ดำเนินการในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบในเบื้องต้น โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอให้ทดลองปลดล็อค 2-3 จังหวัดในกลุ่มกิจการความเสี่ยงต่ำเพื่อประเมินผลก่อนขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 5 กลุ่ม มีหลายมาตรการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานและสามารถดำเนินการได้ทันที หลายมาตรการยังไม่ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอีกส่วนหนึ่งเป็นมาตรการระยะยาว ดังนั้น เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม จึงได้แบ่งมาตรการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มมาตรการที่ทำได้ทันที เช่น การเยียวยาเกษตรกร การอนุญาตให้ปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้
(2) กลุ่มต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน การให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกัน COVID-19 และการขอขยายสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐออกไป 4 เดือน จังหวัดและธุรกิจที่มีความเสี่ยงระดับต่ำถึงปานกลางจะทดลองนำร่อง (Sandbox) เป็นต้น และ
(3) กลุ่มมาตรการระยะยาว เช่น การแก้กฎหมายเพื่อรองรับการจัด E-Gov การจัดตั้งกองทุนร่วมทุนเกษตรกร วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยในระยะต่อไป สศช. จะได้ดำเนินการประมวลมาตรการและข้อเสนอจากทุกภาคส่วนและนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการโดยเร็วต่อไป
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ได้แก่
- มาตรการในการปรับพฤติกรรมของประชาชน โดยมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติของประชาชนและสถานที่ให้บริการ
- แนวทางพิจารณาการเปิดดำเนินการธุรกิจตามความเสี่ยงของสถานประกอบการ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อาทิ สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจพิจารณาเปิดให้บริการได้ตามมาตรการที่กำหนด ขณะที่สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และอยู่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่พิจารณาเปิดให้บริการ
- กระบวนการอนุญาตและติดตาม อาทิ การลงทะเบียนสำหรับสถานประกอบการ การติดตามตรวจสอบโดยภาครัฐระดับท้องถิ่นและจังหวัด การรายงานของภาคประชาชนผ่านแอพลิเคชันไลน์
- การพิจารณาระยะเวลาดำเนินการ โดยเป็นการทดลองเปิดในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำและขยายผลไปสู่จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางต่อไป
- การสื่อสาร โดยภาครัฐจัดทำแผนการสื่อสารไปสู่ประชาชนและสถานประกอบการให้รับทราบถึงข้อปฏิบัติและแนวทางในการดำเนินการ
- คณะทำงานร่วมในการดำเนินการ ประกอบด้วยภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคมและวิชาการ ซึ่งเอกชนจะต้องไปหารือในรายละเอียดกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข
นายกลินท์ กล่าวว่า ภาคเอกชนเสนอให้แบ่งกลุ่มจังหวัด และกิจการต่าง ๆ ตามความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สามารถจัดลำดับการกลับมาเปิดดำเนินการได้ โดยเสนอให้มี Sandbox เพื่อทดลองปลดล็อค 2-3 จังหวัดระยะเวลา 2 สัปดาห์ในกลุ่มกิจการความเสี่ยงต่ำเพื่อประเมินผลก่อนขยายไปสู่กลุ่มจังหวัดอื่น ๆ และกิจการประเภทอื่นด้วย ในระยะ 1 เดือนถัดไป และอีก 2 เดือนถัดไป
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการดูแลและเยียวยาช่วยเหลือ คือ มาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่
- มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน
- มาตรการด้านภาษี เช่น ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันโควิด-19 และ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับ SME
- มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน เช่น ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ออกไป 4 เดือน และเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินออกไป 1 ปี
- มาตรการด้านการเงิน เช่น สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80%
- มาตรการด้านอื่น ๆ เช่น ให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ซึ่งเอกชนต้องหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ได้แก่
- การเยียวยาให้กับเกษตรกร โดยโอนเงินสดเข้าบัญชีครัวเรือนละ 5,000 บาท/เดือน อย่างน้อย 3 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย
- การพักหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการ ระยะเวลา 1 ปี
- การปรับโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้จากการเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร
- การจัดให้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์
- การสนับสนุนและจัดระบบการขนส่งผลผลิตการเกษตร
- การส่งออกผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน
- การใช้ Big Data ในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตร มาตรการระยาว
ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านกองทุนร่วมทุนเกษตรกร 50,000 ล้านบาท (2) การพัฒนานักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ และ (3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตผ่านกลไกการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม
นายปรีดิ ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) แนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากมาตรการสินเชื่อใหม่วงเงิน 500,000 ล้านบาทสำหรับภาคธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ (1) สถาบันการเงินจะกระจายวงเงินให้ลูกหนี้ทุกระดับของ SMEs ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กระจายวงเงินครอบคลุม ทุกอุตสาหกรรม ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และการให้วงเงิน ไม่จำกัดเฉพาะลูกหนี้ชั้นดีของสถาบันการเงินเท่านั้น (2) ผ่อนปรนเงื่อนไขและแนวทางการพิจารณาวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ (Soft Loan) ของ ธปท. ให้กระจายไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม (3) เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันส่วนสูญเสียจากเดิมแก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 63)
Tags: กลินท์ สารสิน, ทศพร ศิริสัมพันธ์, ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์, ปรีดิ ดาวฉาย, สภาพัฒน์, สุพันธุ์ มงคลสุธี