นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านไฟฟ้าทั้งคณะกรรมได้การกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนเพิ่มเติม
หลังประชาชนส่วนใหญ่ขานรับนโยบายการทำงานจากบ้าน (Work From Home: WFH) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวทางหนึ่งที่จะนำมาหารือ คือในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ที่ในรอบปัจจุบัน และในช่วง 4 เดือนข้างหน้า (พ.ค.-ส.ค.) ยังตรึงไว้ที่ระดับ -11.60 สตางค์/หน่วย ทั้งที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันมีราคาลดลงมาก เพราะการคำนวณค่าไฟฟ้าของไทยเป็นการอิงกับคิดต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ ที่ตามสูตรราคาจะมีราคาปรับตัวช้ากว่าราคาตลาดโลกราว 6 เดือน ก็จะมีการพิจารณาว่าจะปรับให้ทันสถานการณ์หรือสะท้อนต้นทุนแท้จริงอย่างไร
รวมถึงจะหารือแนวทางที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ทั้งในส่วนการให้รัฐบาลอุดหนุนค่าไฟฟ้าสำหรับ 1,000 บาทแรก และให้ส่วนลด 50% สำหรับการใช้ส่วนเกิน 1,000 บาทจนถึงไม่เกิน 3,000 บาท เป็นต้นนั้น ก็จะพิจารณาว่าจะสามารทำได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงจะใช้งบประมาณเท่าใด และที่มาของงบประมาณดังกล่าวด้วย
“ค่าเอฟทีเป็นหนึ่งเรื่องที่จะหารือบ่ายนี้ เวลาคิดค่าก๊าซฯที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ในระบบของเราที่ทำไว้เดิมการคิดค่าก๊าซฯในไทยจะช้ากว่าราคาตลาดโลกมากกว่า 6 เดือน หรือ 9-12 เดือนด้วยซ้ำในบางครั้ง อันนี้เป็นเจตนาในสมัยก่อน เป็นเรื่องเก่าที่กระทบมาถึงปัจจุบัน สมัยก่อนถ้าน้ำมันขึ้นก็จะขึ้นตลอด เพื่อต้องการให้ลดผลกระทบต่อประชาชน ก็ชะลอการขึ้นราคา โดยคิดราคาก๊าซฯขยับไปข้างหน้า 7-8-9-10 เดือนเป็นต้น ก็ได้ผลในการที่ราคาตลาดโลกขึ้น ค่าก๊าซหุงต้มบ้านเราก็ขึ้นช้า ก็จะไม่กระทบในช่วงสั้น ๆ แต่เหตุตอนนี้ทิศทางขาลง ลงมาก แต่เรายังอยู่วิธีคิดแบบเดิม ทำให้เราคิดราคาก๊าซฯของเก่าย้อนไปมากกว่าที่ยังราคาแพงอยู่ นี่คือวิธีคิดในอดีตที่ใช้จนถึงปัจจุบันก็เป็นประเด็นหนึ่งเชิงนโยบาย เมื่อทิศทางสถานการณ์ของโลก ค่าก๊าซฯเปลี่ยนไป เราจะปรับวิธีคิดให้ทันสถานการณ์หรือสะท้อนต้นทุนจริงอย่างไร ถ้าเป็นขาขึ้นอีกรอบ ค่อยมาปรับสูตรใหม่อีกทีได้หรือไม่” นายสนธิรัตน์ กล่าวผ่านรายการสถานีโทรทัศน์เมื่อเช้านี้
รมว.พลังงาน กล่าวว่า สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งระบบในประเทศตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นราว 1.55% ซึ่งสวนทางกับยอดใช้ไฟฟ้าตามที่อยู่อาศัยของประชาชนในช่วงนี้ เนื่องจากภาพรวมปริมาณการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศนอกเหนือจากบ้านอยู่อาศัยแล้ว ยังรวมถึงอุตสาหกรรม ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ไฟฟ้าตามที่อยู่อาศัย ขณะที่ภาคธุรกิจลดลงจากสถานการณ์ WFH และการปิดพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
สำหรับการคิดอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ เป็นไปตามอัตราก้าวหน้าตามจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็จะทำให้หน่วยการใช้เพิ่ม และสะท้อนมายังค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ ได้ดำเนินการแล้ว 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นการตรึงค่าเอฟที ซึ่งปกติจะคิดล่วงหน้า 4 เดือน เบื้องต้นค่าเอฟทีจะต้องขึ้น แต่รัฐบาลก็ตรึงค่าเอฟทีมาตลอดเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และส่วนที่ 2 ทางกฟน.และกฟภ. ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท
ด้านนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการกฟน. ในฐานะโฆษกกฟน. กล่าวว่า กฟน.พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคาดว่าการหารือในเชิงนโยบายวันนี้ อาจจะพิจารณาในเรื่องค่าเอฟทีที่ปัจจุบันมีการพิจารณาล่วงหน้า รวถึงการพิจารณาเรื่องการคิดค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันมีการคิดระดับไม่เกิน 150 หน่วยจะเป็นอัตราหนึ่ง และจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิน 150 หน่วย และเมื่อเกิน 400 หน่วยก็จะเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอีก
สำหรับการที่ประชาชนเห็นว่ารอบบิลค่าไฟฟ้าล่าสุดมีระดับสูงขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ WFH ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในบ้าน โดยการตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ระดับเดิม 26 องศาเซลเซียส แต่อากาศที่ร้อนจัดขึ้นเป็นระดับ 40 องศาเซลเซียลในปัจจุบันทำให้กินพลังงานการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่อากาศร้อนในระดับ 30 องศาเซลเซียส และเมื่อรวมกับการคิดค่าไฟฟ้าในแบบอัตราก้าวหน้า ก็ทำให้ภาพรวมการจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 63)
Tags: กระทรวงพลังงาน, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ค่าเอฟที, ค่าไฟฟ้า, ค่าไฟฟ้าผันแปร, คำนูณ สิทธิสมาน, จาตุรงค์ สุริยาศศิน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์