นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.-17 เม.ย. มีผู้ป่วย 2,700 ราย เสียชีวิต 47 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 1.7% ต่ำกว่าอัตราป่วยตายของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 6% ถึง 4 เท่า
และพบว่าเพศชายมีอัตราป่วยตายมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ไต ภาวะอ้วน เป็นต้น แต่บางรายไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นทุกคนจึงไม่ควรประมาท
ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่เสี่ยง และเว้นระยะห่างทางสังคม หากปฏิบัติได้จะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้ง่าย เพราะจากสถิติพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี มีอัตราเสียชีวิตถึง 12.1% จึงเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการปกป้องให้ปลอดภัย แต่วิธีป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ดีที่สุดคือ ต้องระวังตนเองไม่ให้ป่วย
สำหรับตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2563 พบ 99 ราย เพศหญิง 71 ราย และเพศชาย 28 ราย โดยพบความเสี่ยงในการติดเชื้อ 2 รูปแบบคือ การติดเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล จากการให้การดูแลและรักษาผู้ป่วย 73.68% สัมผัสเพื่อนร่วมงานที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล 15.7% ซักประวัติและคัดกรองผู้ป่วย 2.63% อีก 3% ติดจากการปฏิบัติงานไม่สามารถระบุได้ชัดเจน และการติดเชื้อขณะใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องปฏิบัตินอกจากป้องกันตนเองในขณะปฏิบัติงานแล้ว ควรป้องกันขณะดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หมั่นล้างมือและรักษาระยะห่างกับผู้อื่น และขอความร่วมมือประชาชนให้แจ้งข้อมูลหรือประวัติความเสี่ยง ซึ่งมีความสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์
ด้านนพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้พบโดยเร็วที่สุด โดยขยายการค้นหาเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ 1.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อที่ไม่ทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง โดยค้นหาในกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อ ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และกลุ่มที่อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย และ 2.การค้นหาในชุมชน ซึ่งจะค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องในระยะเวลาอย่างน้อย 28 วัน
ตัวอย่างการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดภูเก็ต ได้ค้นหาในพื้นที่ระบาด 2 กลุ่ม ได้แก่ ซอยบางลา และตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 2,915 ราย พบติดเชื้อ 26 ราย นำเข้าสู่ระบบการรักษา และจำกัดวงการแพร่กระจายโรค และได้ขยายมาดำเนินการในกทม.ที่เขตบางเขน คลองเตย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, กองโรคติดต่อทั่วไป, สุขุม กาญจนพิมาย, อนุพงศ์ สุจริยากุล, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร, ไวรัสโควิด-19