นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนัดแรก ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวง 10 กระทรวง โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรอบการใช้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ใน 4 กลุ่ม
- กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มแรงงานในประกันสังคม
- กลุ่มเกษตรกร
- กลุ่มผู้พิการ คนชรา คนไร้บ้าน ซึ่งในกลุ่มนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร
“สัปดาห์หน้า คณะกรรมการจะนำข้อมูลและหลักการพิจารณาทั้งหมด เช่น กลุ่มเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลมาให้รับรอง และกลุ่มเปราะบางที่ให้ปลัด พม. นำข้อมูลมาชี้แจง โดยงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉินที่ 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอดูแล”
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
พร้อมระบุว่า นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาการเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งขอให้แต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงแรงงาน ตลอดจนกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาผ่อนปรนเรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งหลายกระทรวงมีมาตรการออกมาแล้ว และบางกระทรวงเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขอให้รวบรวมมา เพื่อจะร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งในการประชุมนัดต่อไป ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
นายประสงค์ กล่าวว่า สำหรับการแจกเงิน 5,000 บาท ในมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่จะขยายให้กลุ่มนักศึกษารับสิทธิเข้าโครงการได้เพิ่มเติมนั้น ได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และผู้รับผลกระทบบางคนที่มีการเรียนผ่านการศึกษานอกระบบ (กศน.) และทำงานควบคู่กันไปด้วย ก็จะดูแลให้ถ้ามีความเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, คกก., คนชรา, คนพิการ, คนไร้บ้าน, ประสงค์ พูนธเนศ, เยียวยาผลกระทบโควิด-19, โควิด-19