รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ร่วมหารือวงเล็กกับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประเมินสถานการณ์การดูแลความเรียบร้อย ตลอดช่วงเวลาที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายนนี้ และภาพรวมการบังคับใช้กฎหมายหลังประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อนำมาพิจารณาผ่อนปรนบางมาตรการต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ผู้บังคับบัญชาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีที่สุด เพราะต้องควบคุมการแพร่ระบาดต่อเนื่องหากสถานการณ์ยืดเยื้อ พร้อมกันนี้ได้สอบถามเรื่องการปฎิบัติหน้าที่ของกำลังพลที่มีการตั้งด่านตรวจเกือบ 1,000 จุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะด่านชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ยังประเมินสถานการณ์กรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในช่วง 1-2 วันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมพื้นที่กักตัวรองรับ ซึ่งจะมีคนไทยทยอยเดินทางเข้ามาทาง 5 ด่านชายแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะที่มีภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ ทยอยบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ บุคลาการทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการช่วยเหลือกันคนละไม่คนละมือ ส่วนเงินบริจาคสมทบกองทุนสู้โควิด- 19 ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้นกำลังอยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบบางอย่างเพื่อนำเงินมาใช้
ส่วนการเยียวยาพระสงฆ์บางวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 นั้นยังไม่ได้เสนอนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องรอสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติสรุปมาก่อน แต่เบื้องต้นการดูแลพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ นั้นใช้วิธีวัดใหญ่ดูแลวัดเล็กกันเอง ซึ่งวัดใหญ่ที่มีศักยภาพก็ได้ทำโรงทานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งขณะนี้มีเกือบ 200 วัดที่ได้เปิดโรงทานแล้ว
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค. เปิดเผยว่า สมช.จะประชุมในวันที่ 25 เม.ย.นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนแล้วจะจัดส่งข้อมูลทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.พิจารณาต่อไป
สำหรับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการฯ นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อร้ายแรงในแต่ละจังหวัด โดยเมื่อพิจารณาแล้วจะส่งข้อมูลคำแนะนำทั้งหมดไปให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอีกที เนื่องจากบางจังหวัดสามารถดูแลควบคุมสถานการณ์ได้ดีอยู่แล้ว โดย ศบค.จะศึกษาข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศหรือในบางจังหวัดว่าจะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการด้านไหนได้บ้าง รวมถึงมาตรการเคอร์ฟิวด้วย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หาจุดที่ลงตัว และเหมาะสมที่สุด
“ตอนนี้ยังไม่ข้อสรุปว่าจะค่อยๆ ผ่อนปรน หรือแบ่งเป็นระยะๆ ต้องพิจารณาอีกที” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับข้อมูลผู้ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิวนั้นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะนำมาพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนมาตรการเท่ากับผู้ติดเชื้อ มาตรการป้องกัน และขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 63)
Tags: กระทรวงกลาโหม, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผ่อนปรน, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ศบค., สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมศักดิ์ รุ่งสิตา, เคอร์ฟิว, เทวัญ ลิปตพัลลภ