เงินบาทเปิด 32.72 ต่อดอลล์ นลท.หันถือสินทรัพย์ปลอดภัยหลังข้อมูลศก.สหรัฐแย่กว่าคาด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 32.72 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 32.62 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์แข็งค่าเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

“บาทอ่อนค่าจากเย็นวานนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแย่กว่าคาด ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยกันมากขึ้น”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 32.65-32.85 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (15 เม.ย.) อยู่ที่ระดับ 1.13314% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.10073%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 107.42 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 107.35 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.0905 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0934 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.6090 บาท/ดอลลาร์
  • รมว.คลัง แจงเงินที่จ่ายในมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-49 ในเดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียวนั้นเป็นงบประมาณในส่วนที่กันไว้จากปีงบประมาณ 2563 แต่เมื่อมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทก็จะมีการใช้เงินเข้ามาใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนงานของรัฐบาล ดังนั้นเงินที่จะจ่าย 5,000 บาท/เดือนในอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ค.-มิ.ย.) ขึ้นอยู่กับ พ.ร.ก.กู้เงินฯ จะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะสามารถกู้เงินได้
  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการเยียวยาประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยและต้องการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและจะทำอย่างเต็มที่
  • บอร์ดพีพีพีไฟเขียวแผนจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน ปี’63-70 รวม 92 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.09 ล้านล้านบาท ชู 18 โครงการเร่งด่วน มูลค่า 4.72 แสนล้านบาท มั่นใจช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามเป้า
  • ‘วันเดอร์แมน ธอมสัน’ เผยผลสำรวจปัญหาโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศ พบไทยกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมากที่สุด ปรับพฤติกรรมซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นิยมซื้อบะหมี่สำเร็จรูปมากถึงกว่า 52% ส่วนสินค้าราคาแพงทั้งรถ-อสังหาฯ ตั้งใจซื้อน้อยลงในช่วงนี้ ขณะเดียวกับผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน ระมัดระวังการใช้จ่ายทั้งออฟไลน์ และออนไลน์
  • ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ปลัดก.คลังเผยรอนำทูลเกล้าฯ เริ่มกู้ได้ปลาย เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค. กางแผนแบ่ง 3 ก้อน รักษาคนป่วย-ผลิตวัคซีน 4.5 หมื่นล้าน ทุ่ม 5.5 แสนล้านจ่ายเยียวยา และเตรียมฟื้นฟูประเทศอีก 4 แสนล้าน
  • ครม.เห็นชอบขยายความครอบคลุม ผู้ประกันตนรับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย สามารถรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน
  • กลุ่มประเทศ G20 ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรุดตัวลง 8.7% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2535 และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลง 8.0% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนก.พ.
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐดิ่งลง 5.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2489 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ.
  • สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านดิ่งลง 42 จุด สู่ระดับ 30 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2555 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (15 เม.ย.) โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังราคาทองพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมี.ค., ดัชนีการผลิตเดือนเม.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมี.ค.จาก Conference Board
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกและดัชนีภาคการผลิตที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top