น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครคม.) มีมติอนุมัติ 38,105 อัตรา (24 สายงาน) ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.63 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐเสนอ เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์มอบให้บุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1.ให้ยกคนกลุ่มเดิมที่ทำงานอยู่แล้วเป็นข้าราชการ โดยการสอบคัดเลือกใช้มาตรา 55 (ซึ่งจะไปทำความตกลงกันอีกครั้งว่าจะใช้วิธีสอบคัดเลือกแบบไหน) ผลจากการที่ยกคนกลุ่มนี้เป็นข้าราชการ ทำให้ไทยมีอัตราแพทย์เต็มตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้และห้ามใช้เงินเดิมไปบรรจุคนใหม่ การที่จะบรรจุอัตรว่างได้นั้นต้องเป็นตำแหน่งอื่นที่จำเป็น ไม่ได้อยู่ในสายงาน 24 สายงานที่ได้รับการบรรจุไป เช่น แพทย์แผนไทยต้องทดลองปฏิบัติราชการตามปกติ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้บรรจุ ในส่วนอายุราชการนับย้อนได้แต่ไม่นำมาคิดเวลาเพื่อรับบำนาญ จะมีการทยอยบรรจุ 3 รุ่น คือ รุ่นเดือน พ.ค., ส.ค.,พ.ย. ทั้งนี้การบรรจุก่อน 1 ต.ค.ทำให้ต้องใช้งบกลางปี 63
2.จัดสรรอัตราข้าราชการให้นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์จบใหม่ 2,792 อัตรา (จากที่เสนอมา 7,579) ส่วนเภสัชกร พยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข (จากที่เสนอมา 4,787 อัตรา) ให้ทำแผนเสนออีกครั้ง
3.ให้เงินเพิ่มพิเศษ 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มปฏิบัติงานตรง เช่น แพทย์ พยาบาล 1,500/เดือน ถึงเดือน ก.ย.63 และกลุ่มสนับสนุน 1,000/เดือน ถึงเดือน ก.ย.63
4.ให้โควตาพิเศษ 2 ขั้น
5.อายุราชการทวีคูณไม่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายจะระบุให้เฉพาะตอนประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น
6.ลดดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษของสำหรับธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน
7.จ่ายเงินช่วยบุคลากรที่ติดเชื้อตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
8.บุคลากรทางการแพทย์ได้รับบริจาคการทำประกันสุขภาพแล้วจำนวน 320,000 กรมธรรม์
สำหรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐมอบให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวยังมอบให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ของสังกัดอื่นด้วย เช่น ตำรวจ ทหาร มหาวิทยาลัย ท้องถิ่น สายแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 เม.ย. 63)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, คณะรัฐมนตรี, บุคลากรทางการแพทย์, ไตรศุลี ไตรสรณกุล