รายงานข่าวจากสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผยว่า วันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาคดีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่าง บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับ พวกรวม 5 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีบางรายการ (ข้อเสนอตัวจริงกล่องที่ 6 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และตัวจริงกล่องที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา) ในการยื่นข้อเสนอในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามหนังสือที่ กพอ.ทร.182/2562 ลว.10 เม.ย. 2562 โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวเกินกำหนดเวลาเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลฯเห็นว่า เอกสารซองข้อเสนอดังกล่าวมาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น. อันเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องซองข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไปโดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่กลุ่มกิจการค้าร่วมฯเป็นกรณีพิเศษได้ ไม่เช่นนั้นย่อมจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สรุปความได้ว่า การให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นซองข้อเสนอให้ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาทีซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ฟ้องคดีอยู่บ้างแต่การเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอเพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้น
จะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รฐัอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีนำเอกสารจำนวน 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และที่ 9 มา ณ จุดลงทะเบียนยื่นข้อเสนอเมื่อเวลา 15.09 นาฬิกา มาเป็นเหตุในการมีมติไม่รับข้อเสนอซองที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 63)