แบงก์พาณิชย์เตรียมรายงานงบ Q1/63 นำร่อง TISCO โบรกฯคาดเลื่อนประกาศเป็น 20 เม.ย.นี้ พรีวิวภาพรวมกำไร Q1/63 กลุ่มแบงก์ทรุดกว่า 10% YoY แตะ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท คาดเป็นจุดสูงสุดรอบปี เตือนระวังแรงขาย Sell On Fact รับงบ Q2/63 ดิ่งสู่จุดต่ำสุดเซ่นพิษโควิด-19 กดดันหนี้เสียเร่งตัว เฝ้าติดตาม “มูดี้ส์” “S&P” หวั่นหั่นเครดิตอีกระลอก
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ประเมินแนวโน้มภาพรวมผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/63 คาดมีกำไรสุทธิประมาณ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น 5-6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แต่ลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในไตรมาสแรกกระทบส่วนต่างกำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลดลง ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่ทำให้ไม่สามารถบันทึกรายงานที่เป็นรายได้ส่วนของค่าธรรมเนียมและกำไรจากเงินลงทุนบางประเภทได้
ทั้งนี้ แม้ว่าในไตรมาสแรกธนาคารพาณิชย์จะเริ่มรับรู้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สถานการณ์มีจุดเริ่มต้นในเดือน มี.ค.ดังนั้น คาดว่าผลประกอบการของแต่ละธนาคารพาณิชย์อาจจะทำจุดสูงสุดของปีช่วงไตรมาสแรก ก่อนปรับตัวลดลงเข้าสู่จุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 ตามผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2/63 อาจถึงขั้นติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นปัจจัยกดดันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เร่งตัวในไตรมาส 2/63 และอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3/63 ถ้าสถานการณ์ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยยังไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีสถานการณ์คลี่คลายก่อนเดือน มิ.ย. มีความเป็นไปได้ที่ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพลิกกลับมาฟื้นตัวชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ได้อีกครั้ง
“เมื่อประกาศงบไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคาร มีโอกาสสูงที่จะเจอกับแรงขาย Sell On Fact เพราะงบไตรมาสแรกจะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ แต่จะต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ดังนั้น เชื่อว่าหุ้นธนาคารจะกลับลงมาเทรดในกรอบล่างๆตามทิศทางเดียวกับภาพรวมของตลาดหุ้นไทยที่คาดเห็นปรับฐานอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้”
นายธนเดช กล่าว
หัวหน้านักวิเคราะห์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าที่ผ่านมา “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ทยอยปรับลดเครดิตของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยไปแล้วหลายแห่ง แต่มองว่าเรทติ้งของ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” มีผลกระทบกับจิตวิทยานักลงทุนไม่มากเท่ากับกับของ มูดี้ส์ และ S&P ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ปรับลดเครดิตธนาคารพาณิชย์ของไทย แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะเห็นการทบทวนปรับอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์ของไทยของ มูดี้ส์ และ S&P ในระยะถัดเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นของแต่ละธนาคารมีความชัดเจนมากขึ้น
“กรณีของฟิทช์ เรทติ้งส์ที่เพิ่งปรับลดเครดิตแบงก์ไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว เชื่อว่าคงอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์และอาจทบทวนประมาณการอีกครั้งในช่วงปลายปี เพราะได้ใช้สมมติฐานคาดเดาล่วงหน้าว่าผลกระทบพิษโควิดจะลากยาวไปถึง 2 ปี แต่มีข้อดีคือเงินกองทุนของธนาคารบ้านเรายังมีความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แต่ปัญหาหลักตอนนี้คือเศรษฐกิจย่ำแย่เป็นตัวเร่งหนี้เสียเพิ่มขึ้น หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าในฝั่งของ มูดี้ส์ และ S&P จะทบทวนปรับลดเครดิตของธนาคารบ้านเราหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของเราคิดว่ามีความเป็นไปได้”
นายธนเดช กล่าว
สำหรับผลกระทบกรณีธนาคารพาณิชย์ไทยโดนปรับลดเครดิต เบื้องต้นเป็นผลให้ต้นทุนของการระดมทุนทางการเงินจะสูงขึ้น เช่น หุ้นกู้ แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบกับบรรยากาศลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์แค่ระยะสั้น แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนมากระดมเงินจากฐานเงินฝากของคนไทย เป็นสิ่งสะท้อนถึงความปลอดภัยเรื่องสภาพคล่องทางการเงินได้ดีในระดับหนึ่ง
ปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลายรายซื้อขายบน Valuation ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 และมี Valuation ต่ำเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าเป็นสิ่งสะท้อนความกังวลแนวโน้มผลประกอบการที่มีความเสี่ยงในระยะถัดไป ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่ในมุมมองนักลงทุนระยะยาวถือว่าน่าสนใจทยอยซื้อสะสมได้ในช่วงไตรมาส 2/63 เพราะเป็นจังหวะที่ราคาหุ้นธนาคารอาจปรับตัวลงไปหาจุดต่ำสุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า
ส่วนหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่น่าสนใจ ฝ่ายวิจัยฯเลือก BBL เพราะมีเงินทุนสำรองสูงรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และมีอัตราการจ่ายปันผลสูงถึง 7% ส่วนหุ้นธนาคารที่ต้องใช้ความระมัดระวังคือ TCAP เนื่องจากรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ไม่สามารถชดเชยจากการขายธุรกิจธนาคารธนชาตไปแล้ว เป็นผลให้แนวโน้มกำไรปี 64 อาจเติบโตน้อยกว่ากลุ่มฯ
เช่นเดียวกับบทวิจัยฯ บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่าแนวโน้มกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจยังอ่อนแอ แต่มีจุดแข็งคืองบดุลที่แข็งแกร่งรองรับกับภาวะเศรษฐกิจขาลงได้ดีกว่าในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 สะท้อนจากกลุ่มธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ณ สิ้นปี 62 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.32% (16.1% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1) แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา และสูงกว่า 9.23% ณ สิ้นปี 40 อย่างมาก นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารก็มีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก (และเงินกู้ยืม) ณ สิ้นปี 62 ที่ 92.6% ต่ำกว่าระดับ 134.8% ณ สิ้นปี 40 อย่างมาก สะท้อนถึงสภาพคล่องที่มีจำนวนมาก
ขณะที่อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อ (LLR Coverage) ณ สิ้นปี 62 อยู่ที่ 154% สะท้อนว่าธนาคารมี LLR ส่วนเกินสามารถนำมาใช้ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อ การกันเงินสำรอง เงื่อนไขการชำระหนี้ และขยายระยะเวลาชำระคืน สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลงจนถึงเดือน ธ.ค.65 ดังนั้น การนำมาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้ในไตรมาส 1/63 ทำให้ธนาคารมีตัวเลือกที่จะตั้งสำรองส่วนขาดในส่วนของผู้ถือหุ้นช่วยลดผลกระทบต่องบกำไรขาดทุน
“แม้ว่าวันนี้หุ้นกลุ่มธนาคารมี Valuation ถูก แต่ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงมุมมองไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้เมื่อใด ธนาคารยังคงเผชิญกับความเสี่ยงขาลงในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์”
บทวิจัยฯ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 เม.ย. 63)
Tags: BANK, กลุ่มแบงก์, ธนาคารพาณิชย์, ธนเดช รังษีธนานนท์, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน, ฟิทช์ เรทติ้งส์, หุ้นไทย