พร้อมเพิ่มอำนาจบอร์ดสามารถออกมาตรการเร่งด่วนชั่วคราวกรณีมีเหตุกระทบการซื้อขาย Market Disruption
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯออกเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Disruption) โดยให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถกำหนดมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนที่มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีความคล่องตัว สามารถลดผลกระทบได้อย่างเหมาะสม และทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งปรับปรุงเกณฑ์ Circuit Breaker จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับ ให้ใช้บังคับเป็นการถาวร
ทั้งนี้ ได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
ผู้จัดการตลาดฯ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันส่งผลให้ภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผิดไปจากสภาพปกติและมีความผันผวนสูง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการสำหรับใช้ในกรณีมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงเกณฑ์ Circuit Breaker เพิ่มโอกาสแก่ผู้ลงทุนให้มีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น ดังนี้
1.การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Disruption) โดยให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถตัดสินใจดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าว และสามารถพิจารณากำหนดระยะเวลาบังคับใช้มาตรการชั่วคราวนั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
2.การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ (Circuit Breaker) จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับเป็นการถาวร โดยพบว่า ผลจากการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวชั่วคราวตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ดังนี้
ระดับ | เดิม | เดิม | ใหม่ | ใหม่ |
SET Index | หยุดซื้อขาย | SET Index | หยุดซื้อขาย | |
ระดับที่ 1 | -10% | 30 นาที | -8% | 30 นาที |
ระดับที่ 2 | -20% | 60 นาที | -15% | 30 นาที |
ระดับที่ 3 | – | – | -20% | 60 นาที |
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
สำหรับหลักเกณฑ์มาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Disruption)
1.มาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Disruption)
(1) เหตุการณ์ที่เข้าข่าย Market Disruption คือ เหตุการณ์ที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม หรือเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้
(1.1) เหตุสุดวิสัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการดำเนินงานตามปกติของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือวินาศภัย
(1.2) การหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดในกรณีที่ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) มีการเปลี่ยนแปลงใน
อัตราที่กำหนด (Circuit Breaker) และภายหลังจากการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว มีความเป็นไปได้ที่สภาพตลาดอาจจะยัง คงผันผวน
(1.3) การดำเนินการใด ๆ ของภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจทางปกครอง ที่อาจมีผลกระทบ
ต่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม หรือการดำเนินงานตามปกติของตลาดหลักทรัพย์ฯ
(2) มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจาก Market
Disruption โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพิจารณาดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ เป็นการชั่วคราว
(2.1) เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดหรือต่ำสุด เป็นรายหลักทรัพย์หรือทุกหลักทรัพย์
(2.2) เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาในการขายชอร์ต หรือห้ามหรือจำกัดการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์หรือทุกหลักทรัพย์
(2.3) เปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายรายหลักทรัพย์หรือทุกหลักทรัพย์ จากวิธีจับคู่อัตโนมัติ (Automatic Order Matching: AOM) เป็นวิธีการอื่น
(2.4) ปรับเพิ่มอัตราหลักประกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสดหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้น
(2.5) เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Program Trading) ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด หรือห้ามการใช้ Program Trading
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 63)
Tags: Circuit Breaker, Market Disruption, ตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหุ้นไทย, ภากร ปีตธวัชชัย, หุ้นไทย, เซอร์กิต เบรกเกอร์