นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์ 7 ธนาคาร ทั้ง KBANK, BBL, SCB, KTB, TMB TBANK, BAY, CIMBT ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MLR, MOR และ MRR 0.40% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.63 เป็นต้นไป
ยอมรับว่ามีผลกระทบกับกำไรของธนาคารพาณิชย์ทันที เนื่องจากกำไรที่ได้รับจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากลดลง โดยเฉพาะหลังจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในช่วงไตรมาส 1/63
และแม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จะได้รับประโยชน์จากนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศให้กับธนาคารพาณิชย์ลดเงินนำส่งสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% เป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถชดเชยกับภาระที่ลดลงตามเงินนำส่งเข้า FIDF ได้
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกระลอก เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้เป็นการตัดสินใจล่วงหน้าก่อนที่จะมีมติล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ดังนั้นถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 บานปลายยาวนานเกินกว่าไตรมาส 2/63
มีโอกาสสูงที่ กนง.อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.50% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระชำระหนี้ของประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าในระยะถัดไปธนาคารพาณิชย์อาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเภทเงินฝากประจำหรือเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดดอกเบี้ยประเภทเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์พิเศษนิติบุคคลไปแล้ว เพื่อลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบนี้
“เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงไม่ได้เห็นเร็วๆ นี้แน่นอน แต่มีความเป็นไปได้ที่อาจเห็นการดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง จุดประสงค์หลักไม่ได้ต้องการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน แต่ต้องการลดภาระชำระหนี้ของประชาชนมากกว่า นับว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน”
นายธนเดช กล่าว
นายธนเดช กล่าวต่อว่า แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในไทยยังเหลือช่องว่างให้ปรับลดลงได้อีก แต่มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยหรืออาจไม่เกิดขึ้นว่าดอกเบี้ยจะลงมาเหลือ 0% เนื่องจากเชื่อว่าแนวทางบริหารนโยบายการเงินของแบงก์ชาติคงไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถ้ากรณีดอกเบี้ยของไทยเหลือ 0% จะกระทบความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์และอาจนำเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากนับเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก
ขณะที่บทวิจัย บล.บัวหลวง ระบุว่า กรณีธนาคารประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้ ส่งผลให้ภาพรวมของ NIM ลดลงราว 0.16% เหลือ 3.25% เป็นผลให้ฝ่ายวิจัยฯปรับประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคารลง 14% จะทำให้เห็นภาพกำไรสุทธิของกลุ่มฯปีนี้หดตัวลง 23% ก่อนจะพลิกกลับมาเติบโตได้ 14% ในปี 64 ภายใต้สมมติฐานถ้าสถาณการณ์โควิด-19 ผ่านจุดสุงสุดในเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่โดนปรับลดประมาณการกำไรมากสุด คือ TMB และ BAY ลดลงราว 20% ขณะที่ BBL, KBANK, SCB, TMB โดนปรับลดราว 12-15% สำหรับ KKP และ TISCO ไม่ได้มีการปรับเพราะธนาคารได้ใช้วิธีการปรับลดค่างวดแทน
สำหรับมุมมองเชิงกลยุทธ์ฝ่ายวิจัยฯ ไม่ได้แนะนำให้ซื้อกลุ่มธนาคารตั้งแต่แรกเพราะคาดว่าสุดท้ายจะต้องมีการลดดอกเบี้ย และสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือหนี้ NPLs ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 63)
Tags: ดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยนโยบาย, ธนาคารพาณิชย์, ธนเดช รังษีธนานนท์, บล.ยูโอบีเคย์เฮียน, อัตราดอกเบี้ย