ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกสินค้าและการค้าผ่านแดนของไทยให้ทรุดตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แม้จะมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะแก้ปัญหาโควิด-19 ได้รวดเร็วแค่ไหน
ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าและการค้าผ่านแดนในปี 2563 หดตัวที่ -12.8% จากกรอบประมาณการที่หดตัว -9% ถึง -12% มีมีมูลค่าส่งออกแตะระดับที่ 804,300 ล้านบาท จากกรอบประมาณการมูลค่าการส่งออก 784,000-839,400 ล้านบาท โดยหดตัวลึกขึ้นเป็นจากที่เคยหดตัว -0.2% มีมูลค่า 922,380 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
จากมาตรการปิดไม่ให้คนเดินทางเข้า-ออกที่บริเวณชายแดนไทยด้วยความจำเป็น ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัดบริเวณพรมแดนไทยกับกัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย และเมียนมา เนื่องจากคนจากประเทศเหล่านี้ไม่สามารถข้ามแดนมาจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวัน หรือใช้บริการทางการแพทย์ได้เหมือนปกติ
ซึ่งเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนรวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ แต่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่นตรงที่จังหวัดเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้แรงขับเคลื่อนจากกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามา ตัวอย่างเช่น จังหวัดหนองคายมีชาว สปป.ลาว ข้ามมาซื้อสินค้าไทยวันละไม่ต่ำกว่า 3-4 พันคน หรือแม้แต่พรมแดนอื่นก็มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาหิ้วสินค้าไทยเพื่อไปจำหน่ายต่อในประเทศของตนเป็นจำนวนมาก
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการปิดทุกด่านชายแดนทั่วประเทศรวม 26 จังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าบริเวณชายแดนรวมทุกด่านสูญเสียเม็ดเงินจากการที่ไม่มีคนจากเพื่อนบ้านข้ามมาซื้อสินค้าในไทยคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน โดยเฉพาะด่านที่มีคนเข้าออกคึกคักอย่างจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว เชียงรายและตาก เป็นต้น”
เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทย มีมูลค่าส่งออกที่ 132,985 ล้านบาท หดตัวถึง -8.6% (YoY) ซึ่งการส่งออกเริ่มหดตัวตั้งแต่เดือนมกราคมต่อเนื่องถึงเดือนกุมภาพันธ์จนมีมูลค่าลดลงเหลือ 66,352 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและน่าจะส่งผลฉุดการค้าชายแดนไทยตลอดปีนี้
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นอีกปัจจัยใหม่ที่ทำให้ทางการจีนตรวจเข้มบริเวณพรมแดนจีนตอนใต้ ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่สามารถส่งสินค้าได้เหมือนปกติส่งผลให้การส่งออกสินค้าทางบกของไทยไปจีนหดตัวในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ -30.6% รวมทั้งตลอดเส้นทางผ่านสินค้าก็หดตัวสูงกว่าตลาดอื่นไม่ว่าจะเป็นตลาด สปป.ลาว และเวียดนามหดตัว -22.3% และ -48.0% ตามลำดับ
ขณะที่บางตลาดมีดีมานด์เฉพาะจากบางสินค้าทำให้การส่งออกยังมีภาพค่อนข้างดีกว่าภาพรวม ประกอบด้วยตลาดกัมพูชาขยายตัว 14.9% และเมียนมาหดตัว -5.3% ซึ่งได้แรงหนุนจากการเติบโตของการส่งออกกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับสิงคโปร์ขยายตัว 41.0% และมาเลเซียหดตัว -3.2% ได้แรงส่งจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยางพาราที่ยังมีสัญญาณเติบโตเต่อเนื่อง
แม้ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงในปีนี้เหมือนเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดให้แก่สินค้าไทย แต่ผลจากราคาน้ำมันและการทรุดตัวของกำลังซื้อในแต่ละประเทศกลับเป็นปัจจัยลบที่ไม่เอื้อต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2563 นี้เท่าไหร่นัก
ซึ่งหากตลาดทั่วโลกสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2563 ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดประเทศเพื่อนบ้านของไทยฟื้นตัวได้เร็วก็อาจช่วยให้การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด และราคาน้ำมันปรับตัวสูงกว่าระดับ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจช่วยให้การค้าหดตัวน้อยลงปรับตัวสู่กรอบบนของประมาณการ
“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นสาเหตุหลักที่ฉุดกำลังซื้อของคู่ค้าไทย ซ้ำเติมการส่งออกที่อ่อนแรงจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่แล้ว ยิ่งทำให้ภาพการค้าชายแดนและผ่านแดนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คงหดตัวค่อนข้างมาก หลังจากนั้นสถานการณ์จึงจะทยอยปรับตัวดีขึ้น”
เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าตลาดมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นตลาดที่ไทยส่งสินค้าสนับสนุนการผลิตสินค้าจำเป็นในภาวะวิกฤตโควิด-19 จึงมีสัญญาณดีกว่าตลาดอื่น แม้กำลังซื้อโดยรวมจะอ่อนแรงก็ตาม ซึ่งยางพาราเป็นสินค้าที่มีดีมานด์สูงอย่างมากเพื่อใช้ผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ท่อยาง หลอดยาง ถุงมือยางทางการแพทย์ อุปกรณ์แพทย์สนาม อีกทั้ง ในปัจจุบันมาเลเซียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งผลิตและส่งออกถุงมือทางการแพทย์อันดับ 1 ของโลก และไทยก็ส่งยางพาราไปอยู่แล้ว
รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้ยอดความต้องการวัตถุดิบขั้นกลางในการผลิตคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า และไดโอด ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไทยส่งไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นหลักน่าจะช่วยให้การส่งออกชายแดนไทยไปทั้งสองตลาดได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปสิงคโปร์ที่เวลานี้ยังขยายตัวค่อนข้างดี
ส่วนตลาดที่ไทยเน้นส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงหดตัวจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นแรงฉุดสำคัญตลอดปี ทำให้การส่งออกชายแดนไปยังกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา หดตัวต่อเนื่อง โดยไม่เพียงน้ำมันที่เป็นสินค้าหลัก ยังมีสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย รวมกันแล้วมีน้ำหนักต่อมูลค่าการส่งออกครองสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของการส่งออกผ่านชายแดนไทยไปแต่ละประเทศ ก็ยิ่งฉุดให้ตลาดเหล่านี้อ่อนแรง
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นก็มีมูลค่าไม่สูงนัก อีกทั้งต้องรอให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศคลี่คลาย จึงจะหนุนให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้เร่งตัวกลับมาได้ ขณะที่กัมพูชามีดีมานด์ในสินค้าสุกรเร่งตัวสูงเพื่อชดเชยการผลิตในประเทศที่ประสบปัญหาโรคระบาดซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีทำให้การส่งออกไปกัมพูชามีภาพที่ดีกว่าตลาดอื่นในกลุ่มนี้
ขณะที่ตลาดที่ไทยเน้นส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคคงต้องรอการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และคงต้องรอให้กำลังซื้อทั่วโลกให้ฟื้นกลับมาช่วยเป็นกำลังเสริม ซึ่งตลาดจีนคลี่คลายปัญหาไวรัสได้ก่อนใคร ทำให้สินค้ากลับมาขยายตัวได้จากการขนส่งสินค้าไทยไปจีนที่ทยอยกลับสู่ภาวะปกติ อาทิ ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น ลำไยสด ลำไยแห้ง
เช่นเดียวกับเวียดนามถ้าหากโควิด-19 คลี่คลายมีส่วนทำให้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบ 70% ของการส่งสินค้าผ่านแดนทั้งหมดของไทยไปเวียดนาม ปรับตัวดีขึ้นจากปัจจุบันที่หดตัวรุนแรง อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลำไยแห้ง และผลไม้แช่เย็น
แม้ว่าตลาดจีนที่เริ่มดีขึ้นจะมีส่วนช่วยผลักดันสินค้าเหล่านี้ที่ส่วนหนึ่งก็ส่งมายังจีนกลับมาดีขึ้นได้บางส่วน แต่จีนและเวียดนามต่างก็มีห่วงโซ่การผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดโลกอย่างมาก ทำให้สินค้าขั้นกลางอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและการสื่อสารคงต้องรอตลาดโลกฟื้นจึงจะทำให้การส่งออกทางชายแดนของไทยไปทั้งสองประเทศฟื้นตัวเต็มที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 63)
Tags: การค้าชายแดน, การค้าผ่านแดน, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย