ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 50.3 จากเดือน ก.พ. 63 ที่อยู่ในระดับ 64.8 โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 21 ปี 6 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มี.ค. อยู่ที่ 41.6 ลดลงจากเดือน ก.พ.63 ที่อยู่ในระดับ 52.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวจากการปิดกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 49.3 จาก 61.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 จาก 80.4
ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมโควิด-19 ประกอบกับการสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 63 เป็น -5.3% จากเดิมคาดจะขยายตัว 2.8% และหากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้รุนแรงเหมือนกรณีอิตาลีเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงไปอีก แต่ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 3% ในปี 64
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ, การส่งออกของไทยเดือน ก.พ.ลดลง 8.24% นำเข้าลดลง 4.30% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.มีมติ 4:2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามเดิม หลังจากเพิ่งปรับลดลง 0.25% เมื่อการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวแรงจากปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ แต่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ซึ่งตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.63 นี้ ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการทำสำรวจมา ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นเดียวกับช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้นในประเทศไทย โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกือบทุกรายการเดือนมี.ค. ลดลงมากกว่า 10 จุด เนื่องจากมีข่าวในเชิงลบที่สำคัญ โดยเฉพาะข่าวการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งมีคำสั่งจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการสั่งปิดสถานที่ชุมชนต่างๆ ที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
“สถานการณ์โควิด-19 เทียบเคียงได้กับตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เดือนมี.ค.นี้มีหลายข่าวในเชิงลบ โดยเฉพาะยอดผู้ติดเชื้อในไทยที่พบว่าเพิ่มขึ้นมาก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งของกทม.ในการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งตรงกับรอบที่ศูนย์พยากรณ์ฯ สำรวจพอดี จึงทำให้เห็นการ panic เกิดขึ้นในช่วงปลายมี.ค. ที่กลุ่มตัวอย่างกำลังอยู่ในการซึมซับข้อมูล”
นายธนวรรธน์กล่าว
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งรายได้ และภาวะการจ้างงาน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเดือนมี.ค.63 ลดลงจากเดือนก.พ.ที่ผ่านมาถึง 15 จุด สัญญาณของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีความโดดเด่น และคาดว่าจะมีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีโอกาสลดลงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน จากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่อาจจะชะลอตัวต่อเนื่องไปอีก 3-6 เดือน
“กำลังซื้อในไตรมาส 2 นี้น่าจะหายไปมาก และคาดว่าไตรมาส 3 ก็จะยังชะลอตัวต่อเนื่อง ประชาชนมองว่ามีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาไม่ดี เพราะกำลังซื้อของคนทั่วไปลดลง” นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมระบุว่า ในภาวะที่บางประเทศมีการล็อคดาวน์การเดินทางเข้าออกนั้น ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ลดลงไปราว 40% หรือประมาณ 4 ล้านคน เหลือเพียง 6 ล้านคน แต่คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 หลังจากที่หลายประเทศต่างเริ่มใช้มาตรการล็อคดาวน์มากขึ้น อาจจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในช่วงไตรมาส 2 นี้ลดลงได้ถึง 8 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวม 2 ไตรมาสแล้วจะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 12-13 ล้านคน ซึ่งปกติแล้วนักท่องเที่ยวแต่ละคนจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 45,000-50,000 บาทจึงคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะลดลงไปถึง 1-1.5 ล้านล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ มีผลให้เศรษฐกิจไทยย่อตัวลง ซึ่ง ม.หอการค้าไทย จะขอประเมินสถานการณ์และเก็บข้อมูลต่างๆ จากผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ ตลอดจนภาพรวมมาตรการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลอีกครั้ง โดยจะได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 ใหม่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า จากเบื้องต้นที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสหดตัวได้ -4 ถึง -6%
พร้อมกันนี้ ม.หอการค้าไทย เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้จะยังหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค และคงต้องติดตามว่าจะเป็นการหดตัวในทั้ง 4 ไตรมาสหรือไม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายได้เร็วมากน้อยเพียงใดด้วย
“ถ้าสถานการณ์โควิดในไทยคลี่คลายภายในมิ.ย. เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 แต่ถ้าไม่คลี่คลาย เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยติดลบได้ทั้ง 4 ไตรมาสในปีนี้ แต่การที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบมากน้อย หรือจะกลับมาฟื้นได้เมื่อไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเช่นกันว่าสถานการณ์โควิดในอเมริกา ในยุโรปจะเป็นอย่างไรด้วย…เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคในไตรมาส 2 เพราะติดลบ 2 ไตรมาส และทั้งปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบ หรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศไทยปีนี้มีความเสี่ยงสูงมาก และค่อนข้างแน่นอนว่าจะติดลบ แต่จะมากหรือน้อย ต้องดูสถานการณ์ต่อไป”
นายธนวรรธน์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย, โควิด-19