เปิดรายงาน กนง.ลดดอกเบี้ยฉุกเฉินบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ วันที่ 20 มี.ค.63 ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดำเนินนโยบายอย่างทันท่วงทีก่อนการประชุมที่กำหนดไว้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยได้ทันการณ์ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มี.ค.63

ทั้งนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการแล้วและจะดำเนินการเพิ่มเติม

“คณะกรรมการฯ เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่ผ่านมาและครั้งนี้ จะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงขอให้ ธปท.ติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด”

รายงาน กนง.ระบุ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นถึงความจำเป็นของมาตรการดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จึงสนับสนุนให้ ธปท. รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน และขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้เป็นปกติ

คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มตัวแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัวแรง ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ภาคการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้นและมีมาตรการจำกัดการเดินทาง ด้านการส่งออกสินค้า มีแนวโน้มหดตัวแรงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงมาก และหลายประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต

การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตร สอดคล้องกับการลดการใช้จ่ายนอกบ้าน และความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครัวเรือนซึ่งมีไม่มาก สำหรับครัวเรือนภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าคาด นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะถัดไป

การลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง จึงชะลอหรือเลื่อนการลงทุนออกไป อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน (public-private partnership: PPP) ยังคงเป็นแรงสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว แต่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากผลกระทบของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า

สำหรับในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้หาก

  1. สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง
  2. มาตรการการคลัง สามารถขับเคลื่อนและเป็นกลไกสำคัญในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคได้รวมทั้ง
  3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินสามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ได้

คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น รวมทั้งประเมินผลกระทบของความเสี่ยงในแต่ละกรณี (scenario) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่

  1. การระบาดของโควิด-19 ที่ในปัจจุบันรุนแรงขึ้นและแพร่ไปยังหลายประเทศมากขึ้น สำหรับกรณีของไทย หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี2563 ตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวได้บ้างในช่วงครึ่งหลัง
  2. ความสามารถในการรองรับผลกระทบ (shock) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยปัจจัยหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของประชาชน
  3. มาตรการการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

“ในระยะข้างหน้าที่การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูง มาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังของประเทศ จะต้องสอดประสานกัน ดำเนินการเชิงรุก และขยายบทบาทในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอ ทั่วถึงและทันการณ์ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในระยะต่อไป”

รายงานกนง.ระบุ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลงตามอุปสงค์จากการระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลง สำหรับในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าของอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน แต่ยังไม่สามารถชดเชยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลงต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ สอดคล้องกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ในบางจุดเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบผ่านรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลง (income shock) ตลอดจนราคาสินทรัพย์ที่อาจลดลง และภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มด้อยลง รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนด (rollover risk) อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีฐานะมั่นคง และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง

คณะกรรมการฯ อภิปรายถึงความเชื่อมโยงในระบบการเงินที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน และแนวทางป้องกันความเสี่ยงในจุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมการมิให้ปัญหาลุกลาม โดยเห็นว่าความเสี่ยงจากตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน อาจส่งผ่านไปยังผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งที่ลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเปราะบางในสัดส่วนที่สูง จึงสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมมาตรการอื่น ๆ ให้พร้อมเพื่อดูแลไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายวงกว้างขึ้น จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top