ผู้ส่งออกหวั่นบาทแข็งหลุด 30 ต่อดอลล์ เสี่ยงส่งออกติดลบ 5%

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกปี 63 จะเติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.50 บาท/ดอลลาร์ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 มกราคม 2563 = 30.17 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในกรอบ 30.12 – 30.35 บาท/ดอลลาร์) แต่หากค่าเงินบาทในปี 63 แข็งค่ากว่าที่ สรท. ตั้งสมมติฐานไว้การส่งออกอาจเสี่ยงติดลบถึง 5%

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ

1) ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากแรงกดดันของเงินทุนไหลเข้า จากต่างประเทศเพื่อจากการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบการลงทุนในตลาดทุนและพันธบัตร เนื่องจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกปรับลดลง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเซีย

2) แม้ผลของค่าเงินบาทอาจทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตราคาถูกลง แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลอุปสงค์การบริโภคที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง

3) กฎหมายและมาตรการภาครัฐ ที่กำหนดเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจะลอตัว เป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกให้ถดถอยมากขึ้น อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด การเรียกเก็บภาษีความหวาน/เค็ม, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีการโอนเงินระหว่างบัญชี เป็นต้น

4) ปัญหาภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงช่วงเดือนพ.ค.โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในช่วงต้นฤดูกาลผลิต อาทิ ข้าว อ้อย และเริ่มกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้วัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออก และ

5) ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึง 3% จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สหรัฐสังหารนายพลระดับสูงของอิหร่าน ซึ่งเพิ่มความกังวลผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกทั้งปริมาณน้ำมันติบสำรองจากสหรัฐมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย

“ภาวะสงครามคงไม่ส่งผลดีแน่ เพราะกระทบต่อการขยายตลาดในตะวันออกกลางที่เรากำลังผลักดันอยู่ ส่วนผลกระทบในระยะสั้นทำให้ต้นทุนจากราคาน้ำมันสูงขึ้น” น.ส.กัณญภัค กล่าว

ทั้งนี้ ตลาดตะวันออกกลางมีสัดส่วน 3.4-3.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ถึงแม้จะส่งผลกระทบไม่มาก แต่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ การส่งออกรถกระบะ และข้าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังต้องจับตามดูสถานการณ์อีกสักระยะ เพื่อให้เห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากปัญหาไม่ลุกลามบานปลายก็สามารถกลับไปขยายตลาดได้ต่อไป

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ สรท.เป็นห่วงคือ ปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมในช่วงนี้อยู่ที่ 30.50-32.00 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินบาท ณ วันที่ 5 ม.ค.63 ปรับตัวแข็งค่าขึ้น 5.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบให้ผู้ส่งออกได้ดีที่สุด ส่วนจะมีมาตรการอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่ง สรท.จะเข้าพบหารือกับ ธปท.เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ดังนี้ 1) อำนวยความสะดวกการใช้บัญชี FCD สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ อาทิ 1.1) ขอให้ ธปท. สนับสนุนปรับปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการโอนเงินให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการภายในประเทศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนการค้าระหว่างประเทศและมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ สามารถชำระค่าสินค้าและบริการในสกุลเงินต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจได้ 1.2) ผลักดันให้ ธปท. พิจารณาจัดตั้งสำนักหักบัญชีในประเทศไทย (Clearing house) เพื่อลดระยะเวลาดำเนินงานซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับทราบสถานะการชำระเงินผ่านบัญชี FCD ได้อย่างรวดเร็ว

2) บริหารจัดการค่าธรรมนียมทางการเงิน 2.1) ขอให้ ธปท. เข้าควบคุมส่วนต่างค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านบัญชี FCD ของธนาคารพาณิชย์ (ปัจุบันมีอัตราส่วนค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1 ส่วน 4 หรือ 0.25% ต่อของมูลค่าสินค้า ส่วนหนึ่งจากการที่ไทยยังไม่มีสำนัก Clearing house 2.2) พิจารณาค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาทิ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม, ค่าธรรมเนียมการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน Forward/Option เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งอยู่ก่อนแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 63)

Tags: ,
Back to Top