กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยพายุฤดูร้อนในบริเวณประเทศไทยตอนบน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
- ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครราชสีมา
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศลาว เวียดนาม และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า เกิดผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 13 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย สกลนคร ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี และตราด รวม 27 อำเภอ 56 ตำบล 117 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 885 หลัง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น และสถานการณ์ทุกจังหวัดคลี่คลายแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 63)
Tags: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา, ปภ., พายุฤดูร้อน, วาตภัย