พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยหลังประชุมหารือนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า จากที่รัฐบาลและกสทช. ได้มีมาตรการอุดหนุนค่าบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนเพื่อสนับสนุนการเรียน ทำงานที่บ้านในช่วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19
โดยวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ จะเปิดลงทะเบียนให้ปริมาณโมบายอินเทอร์เน็ตฟรี 10 GB และอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบ้านให้เป็น 100 Mbps ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีความห่วงใยในรายละเอียดการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า จากที่ได้ประชุมเร่งด่วนกับ กสทช. เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายรายเดือน (post paid) ประมาณ 3 – 4 ล้านเลขหมาย แบบเติมเงิน (pre paid) ประมาณ 35 ล้านเลขหมาย และบริการอินเตอร์เน็ตบ้าน ประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ซึ่งมาตรการแจกโมบายอินเทอร์เน็ตฟรีนั้น จะให้เฉพาะผู้ที่ใช้โปรโมชั่นอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 10 GB โดยจะสมทบเพิ่มให้อีก 10 GB เป็น 20 GB ใช้งานได้ 30 วันหลังจากลงทะเบียนรับสิทธิ์ ส่วนอินเทอร์เน็ตบ้านจะปรับสปีดให้เป็น 100 Mbps โดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ จากการหารือในมาตรการดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะให้ กสทช. ดำเนินการดังนี้
1.พิจารณาขยายระยะเวลาใช้อินเทอร์เน็ตออกไปมากกว่า 30 วัน เป็นสามารถใช้ได้จนกว่าอินเทอร์เน็ต 10 GB ที่ได้รับสิทธิ์เพิ่มมาหมดไป โดยให้กสทช.ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยเหลือประชาชนและบ้านเมืองในภาวะวิกฤตด้วย
2.การอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้านให้ 100 Mbps โดยอัตโนมัตินั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการไม่เต็มแพ็คเกจ 100 Mbps ประมาณ 1 ล้านครัวเรือนเท่านั้น แบ่งเป็นประเภท adsl (สายทองแดง) ที่มีประสิทธิสูงสุด 30 Mbps และประเภทไฟเบอร์ออพติคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 100 Mbps ซึ่งแต่ละบ้านจะได้อัพสปีดเต็มประสิทธิภาพสูงสุดของแต่ละอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ ให้ กสทช. ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกอบการมี sms แจ้งสิทธิ์ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการได้ทราบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ให้ตรงตามความต้องการด้วย (กรณีผู้ใช้บริการมีที่พักอาศัยหลายที่) หากพบว่าไม่ตรงสิทธิ์ ให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนให้ตรงความประสงค์ของผู้ใช้บริการ
3.กรณีการขอสนับสนุนโครงการอินเทอร์เน็ตนักศึกษามายังกสทช. เนื่องจากปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้ กสทช.ขอทราบความต้องการในการใช้อินเทอร์เน็ตของแต่ละสถาบันการศึกษา เพื่อการเรียนการสอนทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณราว 200 – 300 ล้านบาท และหาก กสทช. มีงบประมาณไม่เพียงพอ ก็อาจขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กสทช. ได้รับประเด็นข้อเสนอแนะดังกล่าวและจะเร่งหารือในที่ประชุมบอร์ดกรรมการบริหาร กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 63)
Tags: กสทช, ฐากร ตัณฑสิทธิ์, วิทวัส รชตะนันทน์, อินเเทอร์เน็ต, เน็ตบ้าน, เน็ตฟรี, เน็ตมือถือ, โทรคมนาคม