‘ปณิธาน’ ชี้ปัญหาตึงเครียดสหรัฐ-อิหร่าน ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

  • สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ระยะสั้นเชื่อว่าความขัดแย้งยังไม่ยกระดับจนเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่มองว่าจะกระทบกับบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลกที่กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว
  • ระยะกลาง ต้องเฝ้าระมัดระวังกับเหตุการณ์อาจจะเกิดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสมัยใหม่ ผสมผสานกับการก่อการร้ายรูปแบบเดิม ส่วนระยะยาว ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ
  • ประเทศไทยต้องระมัดระวังด้านการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ประเทศ ด้านสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ส่วนอิหร่านมีประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวและรักษาในโรงพยาบาลในไทยเช่นกัน

นายปณิธาน วัฒนายากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านว่า ภายหลังมีข่าวว่าสหรัฐฯสังหารนายพลกอซิม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยทหารทรงอิทธิพลของอิหร่าน เบื้องต้นประเมินว่าระยะสั้นจะกระทบกับบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลกที่กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว

แม้ว่าปัญหาความขัดแย้งของ 2 ประเทศจะเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับความตึงเครียดมากขึ้นในปี 63 โดยเฉพาะในระยะกลางต้องเฝ้าระมัดระวังกับเหตุการณ์อาจจะเกิดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสมัยใหม่ ผสมผสานกับการก่อการร้ายรูปแบบเดิม อาทิ การจับตัวประกัน, การจี้เครื่องบิน และการวางระเบิดเครื่องบินเหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีต

ส่วนระยะยาวต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายความมั่นคงของ 2 ประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐกำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐรอบใหม่ ขณะที่อิหร่านประกาศชัดเจนว่าจะเดินหน้าสะสมอาวุธนิวเคลียร์ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโลกด้านความมั่นคงในระยะถัดไป

นายปณิธาน เชื่อว่าระยะสั้นเหตุการณ์ความขัดแย้งยังไม่น่าจะยกระดับความรุนแรงจนเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามอ่าวเปอร์เซีย ตามที่โลกโซเชียลมีความกังวล เนื่องจากอิหร่านขาดนายทหารคนสำคัญไปหลายราย ขณะที่ฝั่งสหรัฐเตรียมความพร้อมส่งกำลังทหารเข้าตอบโต้ทันทีหากถูกโจมตี ซึ่งปัจจุบันศักยภาพทางการทหารของสหรัฐเหนือกว่าอิหร่านหลายสิบเท่า

นอกจากนี้ หากย้อนประวัติศาสตร์ชนวนที่ทำให้เกิดสงครามโลกแต่ละครั้งมาจากการแย่งชิงความเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งและอันดับสอง ซึ่งปัจจุบันอิหร่านยังห่างไกลเรื่องศักยภาพทางการทหารจากสหรัฐมาก ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้องหากอิหร่านจะเข้าสู่สงครามกับสหรัฐโดยตรง

“สถานการณ์ของสหรัฐตอนนี้ดูเหมือนจะพร้อมเข้าสู่สงครามหากอิหร่านเผชิญหน้ากันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังเตรียมตัวเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ ซึ่งอาจส่งผลดีกับคะแนนเสียงของผู้สมัครบางรายในสหรัฐ ทำให้เชื่อว่าอิหร่านยังไม่เข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯโดยตรง ส่วนประเทศมหาอำนาจรายอื่นอย่างรัสเซียเองก็ยังไม่มีท่าทีการเคลื่อนไหวทางการทหารออกมา ส่วนจีนคาดว่าคงต้องการให้เกิดความสงบสุขในโซนตะวันออกกลาง เพราะมีการค้าขายด้วยกันมานาน” นายปณิธาน กล่าว

สำหรับผลกระทบของประเทศไทย ปัจจุบันไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับทั้ง 2 ประเทศ โดยด้านสหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของไทย เป็นพันธมิตรทางการทหารที่สำคัญ และนักท่องเที่ยวสหรัฐฯเดินทางเข้ามาไทยเฉลี่ยเกือบ 1 ล้านคนต่อปี ส่วนอิหร่านมีจำนวนนักท่องเที่ยวและเข้ามารักษาในโรงพยาบาลในไทยเช่นกัน ดังนั้น ประเทศไทยต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบด้านการเมืองระหว่างประเทศ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 63)

Back to Top