นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เสนอให้ทบทวนมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เยียวยาเพิ่มอีก 6 ล้านคน รวมเป็น 9 ล้านคน จากเดิมที่ 3 ล้านคน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะได้รับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
โดยเงินชดเชยรายได้ระยะแรกจะถูกนำมาใช้ในเดือนเมษายนจำนวน 45,000 ล้านบาท เงินชดเชยดังกล่าวยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับบุคคลที่จะเข้าเกณฑ์ผู้ประกันตนมาตรา 39 หมายถึง ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิม แต่ยังต้องการคงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประกันสังคมไว้ จึงไปสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน
ส่วนมาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการ หรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม
นายชาญกฤช กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ที่ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมากกว่า 22 ล้านคนแล้ว โดยเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกแบรนด์ดังระดับโลกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ ทั้ง Amazon, Google, Uber, Apple, Netflix และ Facebook เพราะสามารถบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง เมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาด
นอกจากนี้ AI ยังสามารถเรียนรู้ (Machine Learning) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มีความซับซ้อนได้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ธนาคารกรุงไทยเลือกใช้เทคโนโลยี AI เพื่อกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการลงทะเบียนในระบบ โดยวิธีการตอบคำถามที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ หลังจากนั้น ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตอบคำถามของผู้ลงทะเบียน โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เลือกและคำถามที่ตอบไว้
ซึ่งระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดว่าสอดคล้องกับคุณสมบัติที่ทางกระทรวงการคลังระบุไว้หรือไม่ โดยผลที่ได้จะมีความแม่นยำสูง ปราศจากความคิดเห็นส่วนตัวต่างจากมนุษย์ เพราะระบบ AI จะวิเคราะห์พร้อมประมวลผลข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้กรอก เพื่อเฟ้นหาผู้ที่เดือดร้อนจริงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้รับสิทธิ์เงินเยียวยารายละ 5,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563
นายชาญกฤช ยังได้แนะนำผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าสามารถเข้าร่วม “โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารละ 20,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 10,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ 6 เดือนแรก ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้หลักประกันใดๆ
คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้ ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสาร แท็กซี่ สามล้อ มัคคุเทศก์ เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดและยื่นเรื่องออนไลน์ได้ทั้งสองธนาคาร
ส่วน “โครงการสินเชื่อพิเศษ” เพื่อเสริมสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ให้ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี โดยการค้ำประกันสามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้
เพียงมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้ เป็นผู้มีรายได้ประจำ แต่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และภัยอื่นๆ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ธนาคารออมสินเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, www.เราไม่ทิ้งกัน.com, กระทรวงการคลัง, ชาญกฤช เดชวิทักษ์, ธ.ก.ส., ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, อุตตม สาวนายน, โครงการสินเชื่อพิเศษ, โควิด-19