โบรกเกอร์ แนะนำ”ซื้อ”หุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มองเป็นหุ้นหลบภัยในช่วงภาวะตลาดผันผวนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับราคาหุ้นช่วงกลางเดือนมี.ค.ปรับลดลงเกือบ 50% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายเดือนม.ค.63 สะท้อนปัจจัยลบจากเศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงการปรับลดค่าไฟฟ้าราว 3% ช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชน ตลอดจนความเสี่ยงด้านภัยแล้งไประดับหนึ่งแล้ว
ขณะที่แนวโน้มกำไรปี 63 ยังเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน หลังจะรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีของ บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) และโรงไฟฟ้าที่เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง ส่วนโครงการลงทุนใหม่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) คาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงปลายปีนี้ทำให้จะยังไม่สร้างกำไรอย่างมีนัยสำคัญ
พักเที่ยงหุ้น GPSC อยู่ที่ 58.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 2.63% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.43%
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ธุรกิจผลิตไฟฟ้ายังมีทิศทางที่ดีในระยะยาว และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดย GPSC นับเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่แนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ยังเติบโต จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของ GLOW ทั้งหมดได้เต็มปี หลังจากเข้าซื้อในปีที่ผ่านมา หนุนให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นราว 4,700 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบกับราคาหุ้นที่ปรับลงมาเกือบ 50% ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พื้นฐานของหุ้นค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับในอดีต
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงนั้น แม้อาจจะกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสัดส่วนราว 55% ของ GPSC บ้างแต่เชื่อว่าจะไม่มากนัก เพราะอีกราว 44% เป็นการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนการที่ภาครัฐปรับลดค่าไฟฟ้า 3% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 นั้นเชื่อว่าจะกระทบต่อผลการดำเนินงานจำกัด โดยประเมิน GPSC จะมีกำไรปกติในปี 63 ที่ระดับ 7.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 47% จากปีที่แล้ว
“GPSC เป็นหุ้นที่เรายังชอบ เพราะโรงไฟฟ้าในระยะยาวค่อนข้างดี และผลกระทบจากโควิดน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในช่วง 1-2 สัปดาห์เริ่ม perform ดึขึ้นหลังจากที่ปรับลงมาเยอะ ก่อนหน้านี้ถูกขายออกเพราะราคาแพง ตลาดไม่ดีก็ขายทำกำไรออกมา จนราคาหุ้นลงมาเกือบ 50% ทำให้พื้นฐานค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับในอดีต ภาวะตลาดแบบนี้ธุรกิจไฟฟ้าก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะพักเงินไว้ได้…ราคาหุ้น GPSC ที่ปรับลดลงมาเยอะก็สะท้อนปัจจัยลบต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว”
นายวีระวัฒน์ กล่าว
ด้านนางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ GPSC ในไตรมาส 1/63 ยังมีทิศทางดี โดยคาดว่ากำไรปกติจะเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของความต้องการใช้ไฟฟ้า หลังจากผ่านช่วงฤดูหนาวไปแล้ว รวมถึงโรงไฟฟ้าของ GLOW และ GPSC เดินเครื่องตามปกติ อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติก็มีแนวโน้มลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ลด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ที่คาดจะกลับสู่ระดับปกติ แต่หากพิจารณากำไรสุทธิคาดจะถูกกดดันจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน หากค่าเงินบาท ณ สิ้นงวดไตรมาส 1/63 ยืนอยู่ที่ระดับ 31.2 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 7 เดือน
ส่วนการลงทุนใหม่ในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ขนาด 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง มูลค่าราว 1.1 พันล้านบาทนั้น คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 63 ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะขายแบตเตอรี่ให้กับกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ก่อนจะขยายไปยังตลาดอาเซียนหากมีความต้องการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนครั้งนี้ยังนับว่ามีขนาดเล็ก และยังไม่สร้างกำไรให้กับ GPSC อย่างมีนัยสำคัญจนกว่าจะขยายกำลังการผลิตไปถึงระดับ 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง และเห็นความต้องการใช้จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนปัจจัยลบต่าง ๆ ไประดับหนึ่งทั้งในส่วนของภัยแล้งและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไปแล้ว แต่ช่วงสั้นอาจยังไม่ใช่จังหวะรีบเข้าซื้อ แต่หากราคาหุ้นปรับฐานอีกรอบจะเป็นจังหวะให้ลงทุนระยะกลางถึงยาว
บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของ GPSC ในปีนี้คาดว่ากำไรปกติจะอยู่ที่ราว 8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน สูงกว่าคู่แข่งอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่เฉลี่ย 20% เนื่องจากปีนี้ GPSC จะรับรู้ผลการดำเนินงานของ GLOW และโรงไฟฟ้าที่ COD ในปี 62 รวม 410 เมกะวัตต์ เต็มปี, ดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากการปรับโครงสร้างเงินทุน และการ Synergy จากการบริหารงานร่วมกับ GLOW ราว 300-400 ล้านบาท และต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลงตามราคาน้ำมันช่วงครึ่งหลังปี 63
นอกจากนี้ หุ้นโรงไฟฟ้ามีผลประกอบการที่แน่นอน และได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของทางการน้อยกว่าธุรกิจอื่น แม้ GPSC จะมีรายได้จากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) คิดเป็น 55% ของรายได้รวม แต่มีเพียง 25% ที่มีความเสี่ยงต่อ ความต้องการไฟฟ้าลดลงจากปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน (Supply disruption) เนื่องจากอีก 30% เป็นลูกค้ากลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีในเครือ PTT ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนการ Restart เครื่องจักรสูง ส่วนที่เหลืออีก 45% เป็นขายไฟฟ้าให้กฟผ. ซึ่งสร้างรายได้สม่ำเสมอ ทำให้เชื่อว่าด้วยผลประกอบการที่มั่นคงจะทำให้ราคาหุ้น GPSC น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
รวมถึง GPSC ยังเป็นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง โครงสร้างเงินทุนมั่นคงด้วยสัดส่วน D/E ต่ำเพียง 1.3 เท่า เทียบกับคู่แข่งเฉลี่ย 2-3 เท่า ประกอบกับเป็น Flagship ด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคในเครือ PTT ทำให้เชื่อว่ากลุ่ม PTT จะทุ่มทรัพยากรเพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจไฟฟ้าให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการใช้พลังงานของโลก รวมทั้ง GPSC ยังมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับการขยายการลงทุนของบริษัทในเครือ PTT ด้วย
ขณะที่นับแต่ต้นปีราคาหุ้น GPSC ถูกดดันด้วยปัญหาภัยแล้งในประเทศ เงินบาทอ่อนค่า และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับลดลงราว 32% ตั้งแต่ต้นปี ถือว่าสะท้อนข่าวลบไปมากแล้ว ปัจจุบันซื้อขายบน PER ที่ 18.8 เท่าถือว่ากลับมาน่าสนใจลงทุนอีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 63)
Tags: Consensus, GLOW, GPSC, ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์, ฟินันเซีย ไซรัส, ฟิลลิป, วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา, หยวนต้า, หุ้นกลุ่มพลังงาน, หุ้นโรงไฟฟ้า, เอเซีย พลัส, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, โกลว์ พลังงาน