นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีแรกยังถูกรุมเร้าจากความไม่แน่นอนของวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ฝ่ายวิจัยฯ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกเป็นติดลบ 4-8% เป็นปัจจัยหลักบั่นทอนตัวเลขกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ต่ำกว่าประมาณการเดิม ล่าสุดหั่นกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยปีนี้เหลือ 75 บาทต่อหุ้น ลดลงราว 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวระดับดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เหมาะสมลดลงมาเหลือ 1,280 จุด แต่สิ่งที่ทำให้ดัชนีฯลงลึกมากกว่าปกติคือแรงขาย Forced sell บัญชีเทรดมาร์จิ้นโลน
นอกจากนั้น แรงซื้อกลับค่อนข้างเบาบางภายใต้ความกังวล กับสภาพคล่องเงินหมุนเวียนในตลาดลดลงจากความไม่เชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจโลกระยะถัดไป
ขณะที่ช่วงนี้ภาพของบรรยากาศซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเริ่มทรงตัวได้ดีขึ้น เพราะนักลงทุนเริ่มคลายกังวลประเด็นสภาพคล่องในตลาดภายหลังมีนโนบายอัดฉีดจากธนาคารกลางทั่วโลก และภาครัฐของหลายประเทศ ขณะเดียวกันแรงขาย Forced sell ในตลาดหุ้นไทยเริ่มเบาลงอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น ช่วงนี้แนะนำปรับพอร์ตลงทุนใหม่โดยเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงตลาดหุ้นมากขึ้น โดยระดับดัชนีฯที่เหมาะสมคือเมื่อต่ำกว่า 1,100 จุด นักลงทุนระยะยาวที่มีเงินสดสามารถ “ทยอยซื้อสะสม” แต่ต้องระมัดระวังการลงทุนใน Sector ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่ SET Index จะรีบาวด์ขึ้นมาทดสอบ 1,600 จุด แม้ว่าตลาดฯจะมีประเด็นบวกจากการอัดสภาพคล่องเข้ามาในระบบช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุน แต่กรณีดีที่สุดดัชนีฯอาจมีโอกาสเด้งกลับขึ้นไปทดสอบ 1,300-1,350 จุด
นายวิน กล่าวต่อว่า ยังไม่ได้ประเมิน GDP ครึ่งปีหลัง เนื่องจากยังคาดเดาไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด แต่กรณีดีที่สุด คือ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกขึ้นไปถึงจุดสูงสุดช่วงปลายเดือน เม.ย.หลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนธุรกิจก็จะสามารถกลับมาเดินหน้าได้ตามปกติ ถ้าเป็นไปตามคาดก็เป็นไปได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะพลิกกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ถึง 5-8% ทำให้ทั้งปี 63 มีโอกาสขยายตัวในกรอบ -2 ถึง 0% ดีกว่ากรณีธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะติดลบมากกว่า 5%
“สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก คงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะจบตรงไหน เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งวันนี้ตัวเลขคนติดเชื้อทั่วโลกยังไม่ทำจุดสูงสุด ยิ่งน่ากลัวกว่านั้นคือผู้ที่เคยติดเชื้อจะกลับมาเป็นใหม่อีกได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้นักลงทุนทั่วโลกยังไม่ได้ตอบสนองกับความกังวลถึงระดับนั้น แต่ถ้าหากผลวิจัยเป็นทางการออกมาระบุว่าสามารถกลับมาติดเชื้อได้อีก นั่นแปลว่าวิกฤตโควิด-19 คงต้องยืดเยื้อและอยู่กับเราอีกยาว เชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจแน่นอน”
“วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้แตกต่างจากปี 40 เพราะรอบนี้กำลังซื้อที่หายไปเพราะคนอยู่บ้าน แต่สุดท้ายถ้าทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมในครึ่งปีหลังก็กลับมาเดินทางและทำงานได้ตามปกติ”
นายวิน แนะนำว่า กลยุทธ์การเลือกลงทุนในหุ้น นักลงทุนควร “หลีกเลี่ยงซื้อสะสม” หุ้นที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มอิงกับการใช้จ่าย-ช็อปปิ้ง, กลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มธุรกิจขนส่ง ส่วนหุ้น Bigcap ที่นอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยง แนะนำ “ทยอยซื้อสะสม” แต่ต้องใช้ความระมัดระวังความถูกและแพงเป็นสำคัญ ซึ่งอาจใช้แนวทางวัด Valuation คือหุ้นต้องต่ำกว่า 0.7 เท่าของ book value ถ้าหากสูงกว่า book value อาจมองว่าแพงเกินไป
สำหรับสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ยังคงน้ำหนักเชิงบวกท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจโลก แต่ระยะสั้นเพดานการปรับขึ้นอาจมีกรอบจำกัด ประเมินกรอบด้านบนไว้ที่ 1,700-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จึงแนะนำจับจังหวะเก็งกำไรตามกรอบเมื่อราคาต่ำกว่า 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนการลงทุนตราสารหนี้ยังไม่แนะนำให้ลงทุน หรือถ้าต้องการลงทุนก็ควรเลือกเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่มีความปลอดภัยมากกว่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 63)
Tags: KTBST, ตลาดหุ้น, วิน อุดมรัชตวนิชย์, หุ้นไทย, เศรษฐกิจไทย