นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.65/66 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.62 บาท/ดอลลาร์
วันนี้คาดว่าเงินบาทจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับนี้ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่จะมีผลต่อตลาด ขณะที่ต้องรอดูการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของฝั่งสหรัฐ และยุโรปด้วยเช่นกัน
“บาทวันนี้น่าจะยังเป็น trend นี้ไปก่อน เพราะไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ๆ ต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปด้วย” นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.60-32.70 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (30 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 1.00995% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.81604%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 108.56/58 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 107.69 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1012/1015 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1082 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.6630 บาท/ดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2563
- สมาคมบลจ.ประกาศความพร้อมออกขายกองทุน “เอสเอสเอฟ” เผยมีสมาชิก 15 แห่ง เตรียมออกขายปีนี้ 72 กองทุน เป็นกองพิเศษเน้นลงทุนในหุ้น 20 กอง และกองปกติอีก 52 กอง คาดระดมเงิน ได้กว่า 6 หมื่นล้าน ใน 3 เดือน ด้านบลจ.ไทยพาณิชย์ มั่นใจ “กองพิเศษ” ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน เหตุหักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท
- “สมคิด” ควง “อุตตม-วิรไท-รื่นวดี” พบนายกรัฐมนตรีชงออกมาตรการชุดที่ 3 เน้นเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจไทยโดยใช้ทั้งเงินงบประมาณและออก พ.ร.ก.เงินกู้ ย้ำทุกกระทรวงต้องตัดงบ 10% มาไว้ในงบกลาง ให้นายกฯ ใช้สู้โควิด-19 พร้อมยันไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ
- รมว.คลัง ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ที่ผ่านมา รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพื่อดูแลถึง 2 ชุด เพราะรัฐบาลต้องการดูแลช่วยเหลือ เยียวยา และประคับประคองเศรษฐกิจตั้งแต่ระยะต้นของการแพร่ระบาด และยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้ จะไม่ทำให้รัฐบาลถังแตกแน่นอน เพราะการจัดสรรงบประมาณสำหรับชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้งที่ได้ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมาในอนาคตนั้น สำนักงบประมาณได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและรัดกุม
- ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 200,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ารัฐบาลกู้เงินโดยใช้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินมาใช้จ่ายได้ หากงบกลาง 96,000 ล้านบาท ไม่พอใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะงบกลางที่ตั้งไว้ไม่ได้เผื่อนำมาแก้ปัญหาโควิด-19 ไว้ด้วย “หากรัฐบาลต้องการกู้เงิน สภาพคล่องในระบบการเงินไทยมีมากพอ ไม่ต้องกู้ต่างประเทศเหมือนปี 40 ที่ไทยขาดสภาพคล่องอย่างไรก็ตาม หากจะออกพันธบัตรมาจำหน่าย กำหนดดอกเบี้ยจูงใจ ก็น่าจะขายได้ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำผู้ฝากเงินต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะผลตอบแทนสูงกว่าและความเสี่ยงต่ำ”
- นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 777,286 ราย และยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 37,140 ราย
- รัฐมนตรีการค้าของกลุ่ม G20 จัดการประชุมทางไกลฉุกเฉิน เพื่อหารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน โดยการทำให้การกระจายสินค้าและบริการยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลุกลามของไวรัสโควิด-19
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 มี.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้ลดความน่าดึงดูดของราคาทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้นเกือบ 700 จุดเมื่อคืนนี้
- ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จาก Conference Board, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนก.พ., ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค.จากมาร์กิต และดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 63)
Tags: Forex, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท