ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่อีกครั้งจากชนวนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมสถานการณ์ของการแพร่กระจายเชื้อในไทย นำมาสู่มาตรการปิดห้างสรรพสินค้าและสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มเติมตั้งแต่ 22 มี.ค.-30 เม.ย.63
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอ กำลังซื้อในประเทศซบเซา แถมยังโดนซ้ำเติมจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้แนวโน้มผลประกอบการกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่หลายรายกำลังเข้าสู่ความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อหุ้นค้าปลีกก็ถูกบั่นทอนอย่างหลีกเลี่ยง สะท้อนได้จากแรงถล่มขายหุ้นค้าลีกหลายบริษัทดิ่งติดฟลอร์กันหลายวันทำการ
แต่ที่ผ่านมาหุ้นค้าปลีกเป็นหนึ่ง Sector ที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนระยะยาวแทบทุกคนต้องมีติดพอร์ตและซื้อขายกันบน P/E สูงกว่า Sector อื่นๆ และในยามที่ราคาหุ้นค้าปลีกโดนถล่มขายจากภาวะตื่นตระหนก การจับจังหวะลงทุนรอบนี้จะเป็น โอกาส หรือ ความเสี่ยง ของนักลงทุนกันแน่…
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า แรงขายหนักในหุ้นค้าปลีกเริ่มต้นจากกำลังซื้อซบเซาและนโยบายสั่งปิดห้างสรรพสินค้า สร้างผลกระทบโดยตรงให้กับผลประกอบการหุ้นกลุ่มค้าปลีกหลายบริษัท สะท้อนออกมาในราคาหุ้นค้าปลีกหลายบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมาก ดังนั้น การปรับตัวลดลงของหุ้นค้าปลีกในรอบนี้ต้องหาจุดต่ำสุดจากสมมติฐานระยะเวลาการปิดห้างสรรพสินค้ายาวนานหรือขยายไปทั่วประเทศแค่ไหน ซึ่งนักวิเคราะห์อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์เพื่อนำมาประเมินสมมติฐานของกำไรต้องสูญไปจากผลกระทบการปิดห้างสรรพสินค้า
ปัจจุบันฝ่ายวิจัยฯทยอยปรับลดกำไรหุ้นค้าปลีกมาหลายครั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปรับลดประมาณกำไรหุ้นค้าปลีกไปแล้วกว่า 20-30% จากประมาณการเดิม ล่าสุดได้ปรับราคาพื้นฐานหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่หลายราย ประกอบด้วย CPALL ราคาพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 73 บาท ,BJC ราคาพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 44 บาท , GLOBAL ราคาพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 14 บาท , HMPRO ราคาพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 13.60 บาท , MAKRO ราคาพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 35 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มุมมองการลงทุนหุ้นค้าปลีกในระยะกลางและระยะยาวหลายบริษัทมีธุรกิจที่มีแข็งแกร่งเติบโตได้ในอนาคต และมีผลกระทบน้อยจากกระแสดิสรัปชั่น เชื่อว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้วราคาหุ้นก็จะพลิกกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่อีกครั้ง
สำหรับกลยุทธ์ลงทุนหุ้นค้าปลีกช่วงนี้ นักลงทุนสนใจลงทุนระยะกลางและระยะยาว ควรต้อง Discount P/E ลงมาเพื่อให้ต้นทุนการถือครองหุ้นมีความเสี่ยงต่ำหากตลาดหุ้นไทยยังเผชิญกับภาวะการปรับฐาน ปัจจุบันหุ้นค้าปลีกปรับฐานลงมามีค่าเฉลี่ย P/E ประมาณ 24 เท่า ถือว่าต่ำมากในรอบหลายๆ ปี แม้ว่าจะสะท้อนว่าแนวโน้มของกำไรปีนี้ย่ำแย่แน่นอน แต่ค่าเฉลี่ย P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภาวะตลาดเป็นปกติจะเทรดกันบน P/E มากกว่า 30 เท่า ดังนั้นอาจต้องรอสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นก็เป็นจังหวะที่เข้าซื้อลงทุนในระยะสั้นได้เช่นกัน
“ใครที่อยากลงทุนหุ้นค้าปลีกช่วงนี้ สิ่งสำคัญคือต้นทุนราคาหุ้นควรต้องมีความปลอดภัย ดังนั้นมูลค่าที่เหมาะสมต้องมี Discount P/E เข้าไปอย่างน้อยลดลงมากกว่า 20-30% จากที่เคยเทรด P/E ปกติมากกว่า 30 เท่า”
นายกรภัทร กล่าว
“กรณีรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เชื่อว่าถ้ารัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น แนวโน้มกำไรธุรกิจค้าปลีกก็จะสามารถพลิกฟื้นได้รวดเร็วในระยะถัดไป แต่ถ้าควบคุมไม่ได้น่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง ถ้าถามว่าหุ้นค้าปลีกเสียเสน่ห์ไปหรือไม่ คิดว่าคงไม่ถึงขั้นเสีย เนื่องจากในอดีตเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อุตสาหกรรมค้าปลีกจะกลับมาเด้งรวดเร็วมากเมื่อยามที่ตลาดหาจุดต่ำสุดเจอ ดังนั้น จึงมองเป็นโอกาสที่จะซื้อลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนจะชอบบริษัทไหนแค่นั้นเอง”
บทวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การสั่งปิดห้างสรรพสินค้ากระทบกับยอดขายของผู้ประกอบการที่ไม่ได้จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันต้องโดนปิดสาขา ได้แก่ HMPRO, ILM, BEAUTY และ COM7 สร้างผลกระทบต่อกำไรกลุ่มค้าปลีกลดลงจากเดิมราว 0.9% ดังนั้น กลยุทธ์ระยะสั้นให้หลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นดังกล่าวไปก่อน
ปัจจัยลบเฉพาะตัวของ ILM ในเรื่องจำนวนสาขาใหม่เดิมต่ำกว่าคาด และ การปิดสาขาเดิม BEAUTY ที่มากกว่าแผนเดิม และการขายต่างประเทศที่แย่กว่าคาด ทำให้ได้กำไรของ HMPRO, ILM, BEAUTY และ COM7 ลดลงจากเดิม 4.3%, 5.9%, 22.5% และ 2.5% ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ทุกๆ 1 เดือนหากมาตรการขยายออกไปจะกระทบกำไรและมูลค่าพื้นฐานในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยฯ มีตัวเลือกลงทุนหุ้นค้าปลีกเป็นผู้จำหน่ายสินค้าจำเป็นที่น่าจะได้ประโยชน์ชัดเจน คือ CPALL ในทางพื้นฐานยังแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 80 บาท รวมทั้งแนะเก็งกำไร MAKRO ราคาเป้าหมาย 36 บาทราคายังต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 63)
Tags: BJC, CPALL, GLOBAL, HMPRO, MAKRO, กรภัทร วรเชษฐ์, ข่าวหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นค้าปลีก, หุ้นวันนี้, หุ้นไทย, โนมูระ พัฒนสิน