นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 109 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ส่งผลให้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 1,245 ราย
แบ่งเป็น คนไทย 1,032 ราย และอื่น ๆ อีก 213 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯและปริมณฑล และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 20-59 ปี
สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนพอสมควร โดยมีการเว้นระยะห่างในการนั่งประชุม การเว้นระยะห่างที่นั่งในรถโดยสาร แต่การจะวัดผลว่ามาตรการดังกล่าวดีแล้วนั้น จะต้องเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง แต่ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังไม่ลดลง ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือในทางปฏิบัติให้มากกว่านี้
นอกจากนี้ในส่วนการจัดหายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์นั้น นายกรัฐมนตรี โดยสั่งการในที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้กรมบัญชีกลาง สำนักงานอาหารและยา องค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุข อำนวยความสะดวกให้ยา อุปกรณ์ที่ไม่ใช่ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ นำเข้ามาได้อย่างถูกต้อง
โดยผลการประชุมมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการผ่อนปรนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานนี้ได้มีมติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด -19 ทุกวงเงิน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงในเรื่องวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง
โดยล่าสุดมีการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ชุดป้องกันตนเอง หรือ PPE จำนวนอย่างละ 400,000 ชิ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ในเร็ววันนี้
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 109 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงอายุ 55 ปีที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย ขณะที่มีผู้ป่วยกลับบ้าน 3 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมรวม 1,245 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยกลับบ้านรวม 100 ราย และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1,139 ราย
สำหรับผู้ป่วยใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกจำนวน 39 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ได้แก่ สนามมวย พบ 10 ราย อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถานบันเทิง 8 ราย โดยพบทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด และกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 21 ราย
กลุ่มที่สองจำนวน 17 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนไทย 6 ราย เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และ ต่างชาติ 2 ราย ชาวยูเครน และโปรตุเกส กลุ่มทำงานและอาศัยในสถานที่แออัด ใกล้ชิดคนจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ 7 ราย เช่น อาชีพการขายบริการ นวดสปา ร้านอาหาร เชฟ พนักงานต้อนรับในโรงแรม เจ้าของร้านเครื่องประดับ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย รวมยอดสะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเป็น 11 ราย
ส่วนกล่มุที่สาม จำนวน 53 ราย ขณะนี้รอตรวจสอบประวัติความเชื่อมโยงต่อไป โดยมีพื้นที่กระจายอยู่ในจ.เชียงราย นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร มุกดาหาร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และกรุงเทพฯ
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างคงที่ อยู่ประมาณหลักร้อยทุกวัน ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยกระจายอยู่ในพื้นที่ 57 จังหวัด โดยผู้ป่วยที่มีอายุน้อยสุด 6 เดือน และอายุมากสุด 84 ปี คิดเป็นอายุเฉลี่ย 40 ปี ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย รักษาตัวในต่างจังหวัด 5 ราย ส่วนที่เหลือรักษาตัวในกรุงเทพฯ มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 31-76 ปี โดยในจำนวนผู้ป่วยอาการหนักมีอยู่ 1 ราย ที่ต้องใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ซึ่งอาการอยู่ในภาวะวิกฤต
ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายที่พบในวันนี้ มีประวัติเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี และมีไขมันในเลือดสูง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ด้วยอาการหอบเหนื่อย และตรวจพบว่ามีปอดอักเสบรุนแรง และต่อมาใช้เครื่องช่วยหายใจก่อนจะเสียชีวิตลง
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิตของไทยที่มีจำนวน 6 ราย จากผู้ป่วยสะสม 1,245 ราย คิดเป็นประมาณ 0.5% ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีอัตราป่วยตายสูงกว่านี้
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียชีวิต จะมีอายุมากกว่ากลุ่มที่ไม่เสียชีวิต โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนักจำนวน 17 รายนั้น ราวครี่งหนี่งมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และในรายที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้มีอายุเกิน 70 ปี จำนวน 2 ราย ทำให้เห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีความความเสี่ยงสูง จึงได้ร่วมกันรณรงค์ปกป้องไม่ให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกว่ากลุ่มอื่น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงนอกจากเรื่องของอายุที่มากแล้ว ยังมีเรื่องของโรคประจำตัว โดยโรคประจำตัวที่พบบ่อยในช่วงนี้ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต และบางรายเป็นผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งด้วย ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้ต้องระวังการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ
“ข้อมูลรวม ๆ ในต่างประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตมากแล้ว พบว่าในกลุ่มที่มีอายุมาก อัตราป่วยตายจะมากกว่า 10% คนที่มีอายุน้อย ไม่มีโรคประจำอัตราป่วยตายจะน้อยกว่า 1% ความหมายถ้าป่วย 100 คน ก็เสียชีวิตไม่ถึง 1 คน แต่ถ้าอายุมากด้วย มีโรคประจำตัวด้วย อัตราป่วยตายก็จะมากกว่า 10% คือ 100 คนเสียชีวิตมากว่า 10 คน คือข้อมูลที่สำคัญที่เราต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว”
นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มเห็นผู้ป่วยกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้น ซึ่งส่วนหนี่งอาจจะไปพร้อมกับเชื้อไวรัสที่อาจจะก่อให้เกิดโรค ทำให้คาดว่าจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., อนุพงศ์ สุจริยากุล, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร