น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ เพื่อสังหารนายพล กัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังหน่วยรบพิเศษ Quds Force ทหารคนสำคัญของผู้นำสูงสุดอิหร่าน เมื่อเช้าวันที่ 3 ม.ค.63 ซึ่งทางการสหรัฐฯ ให้เหตุผลการโจมตีดังกล่าวว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดความเสี่ยงและรักษาความปลอดภัย ภายหลังมีรายงานความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยต่อทูตและพลเมืองอเมริกันในพื้นที่ ขณะที่อิหร่านประกาศพร้อมออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ แต่ขณะนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดนั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค และสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงินและตลาดทุน โดยประเมินว่าในระยะสั้น ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าปรับตัวขึ้นอีกหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้น
ในระยะกลาง-ยาว ประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกระทบความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ เช่น ความคืบหน้าการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ – จีน และมาตรการ/นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดการตอบโต้ระหว่างกันและมีการปิดเส้นทางเดินเรือ ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก เพราะน้ำมันจากตะวันออกกลางส่วนใหญ่ผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซ โดยอิหร่านเป็นประเทศที่มีบทบาทหลักในการควบคุมเส้นทางดังกล่าว นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าก็มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการเดินเรือกว่า 20% ของโลกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบฮอร์มุซ หากมีการปิดเส้นทางเรือบรรทุกน้ำมันและสินค้า จะไม่สามารถใช้ช่องแคบเพื่อเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียได้
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แม้ขณะนี้ ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากเรื่องตลาดทุน ตลาดเงิน และราคาน้ำมันที่มีความผันผวนสูง แต่สนค. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมแนวทางรับมือในระยะต่อไป โดยเฉพาะหากมีการตอบโต้กันในวงกว้างขึ้น
ในประเด็นด้านการค้าและการส่งออกของไทย สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าชธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว) มูลค่า 22,873.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11% ของการส่งออกรวม 11 เดือนแรก ปี 62 อาจได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบจะเพิ่มความท้าทายในการฟื้นฟูตลาดส่งออกในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรักและอิหร่าน และตลาดอาฟริกาที่มีประเทศในตะวันออกกลางเป็นช่องทางการค้า (trading posts) ให้สินค้าไทย แต่เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่สามารถหาแนวทางขยายการค้าได้ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมนำทัพภาคเอกชนเดินทางไปรุกตลาดอย่างน้อย 16 ประเทศ ซึ่งรวมถึงตะวันออกกลางในปี 63
อนึ่ง ในช่วง 11 เดือนแรกปี 62 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าระหว่างไทยและตะวันออกกลางมีมูลค่ารวม 25,683 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.8% ของการค้ารวม) โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 7,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 18,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การค้าระหว่างไทยและแอฟริกา มูลค่ารวม 9,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.1% ของการค้ารวม) โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 6,288 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 3,085 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 63)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, สหรัฐ, อิหร่าน