คมนาคม ออกข้อกำหนด Social Distance รถโดยสารสาธารณะ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แถลงการข่าวการดำเนินมาตรการภาคการขนส่งผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉินของกระทรวงคมนาคมสู้ภัยเชื้อวรัสโควิด-19 ว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินมาตรการภาคการขนส่งผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยมีมาตรการ “คัดกรอง COVID-19” แบ่งเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้

  1. คัดกรองประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน ผู้โดยสาร ก่อนเข้าอาคารที่พักผู้โดยสาร
  2. คัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าไปในยานพาหนะ
  3. คัดกรองผู้โดยสาร ผู้ปฏิบัติงาน ก่อนออกจากอาคารที่พักผู้โดยสาร
  4. เมื่อพบผู้มีอาการป่วย ดำเนินการตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  5. เว้นระยะห่างในจุดจำหน่ายตั๋ว จัดที่นั่งบนยานพาหนะ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  6. แนะนำผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย และแว่นตาตลอดการเดินทาง
  7. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลให้กระทรวงคมนาคมทราบทุกวัน

“กระทรวงคมนาคม ได้วางมาตรการการเดินทางผ่านทางอากาศ ทางบก ทางราง และทางน้ำ โดยให้มีจุดคัดกรอง เพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยปลอดภัย ไม่ต้องระแวงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้มาตรการที่ใช้หลักทางสาธารณสุขให้จัดระยะห่างตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร และให้คัดกรองก่อนเข้าอาคารผู้โดยสาร ที่ตรวจอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศา รวมทั้งให้กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์ม ต.8 ที่ระบุจุดเดินทางที่ออกและจุดหมายปลายทาง ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์” รมว.คมนาคม กล่าว

สำหรับแผนปฏิบัติการการจัดการด้านระบบขนส่งภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ของกระทรวงคมนาคม มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

1.การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางอากาศ

  • กำหนดจุดรอรับการตรวจร่างกาย และจัดทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งการยืนเข้าแถว บริเวณหน้าจุดตรวจค้นผู้โดยสารเปลี่ยนลำระหว่างประเทศไปภายในประเทศ (International to Domestic) และช่องทางเข้าออกเจ้าหน้าที่ (Staff) โดยให้มีระยะห่างเพียงพอ ในระยะ 1-2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

2.การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางบก

  • ให้มีมาตรการ Social Distance โดยให้ผู้โดยสารเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย
  • จัดที่นั่งพักคอยให้มีระยะห่าง 1 เมตร 1 ที่ เว้น 1 ที่

3.การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง

  • ให้มีมาตรการ Social Distance โดยจัดระยะห่างการยืน 1-2 เมตร ในจุดที่ผู้โดยสารต้องยืนต่อคิวรอใช้บริการต่างๆ ได้แก่ การจำหน่ายตั๋วหน้าเคาน์เตอร์ และบริเวณหน้าเครื่องจาหน่ายตั๋วอัตโนมัติ และบนชานชาลา
  • รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้เพิ่มขบวนรถเสริมให้บริการช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า เพื่อลดความแออัด
  • ขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกท่าน ยืนในระยะห่างที่เหมาะสม ขณะใช้ลิฟต์โดยสาร

4.การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางน้ำ

  • ประกาศกรมเจ้าท่าที่ 56/2563 เรื่อง การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและมิให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์หรือละเมิดกฎหมาย ให้ขยายเวลาหรืออายุของใบสำคัญรับรอง ใบอนุญาต ประกาศนียบัตร สัญญา และหนังสือสำคัญ จากวันที่หมดอายุหรือสิ้นอายุออกไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือที่ได้รับการขยายเวลาหรืออายุของใบสำคัญรับรอง และใบอนุญาตรักษาเรือให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการใช้ตลอดเวลา
  • การต่อคิวขึ้น-ลงเรือ เว้นระยะห่าง 2 เมตร และให้เจ้าหน้าที่เร่งระบายผู้โดยสารให้ขึ้น-ลงเรือ เพื่อไม่ให้มีการเกาะกลุ่มหรือร่างกายเบียดเสียดกันโดยไม่จำเป็น
  • ประชาชนที่มาติดต่อราชการให้นั่งเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารรวมถึงพนักงานในพื้นที่ส่วนกลาง และบริเวณที่มีการใช้งานร่วมกัน เช่น บริเวณทางเข้า-ออกสถานี ห้องออกบัตรโดยสาร อีกด้วย

สำหรับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด กระทรวงคมนาคมมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

  1. กรณีการเดินทางด้วยรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ให้หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางจัดให้มีการตรวจคัดกรอง และปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดยพิจารณาอนุญาตเฉพาะบุคคลจากข้อกำหนดข้อ 8 ตาม พ.ร.ก.ฯ
  2. กรณีการเดินทางด้วยรถโดยสารข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้ผู้ให้บริการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร โดยจะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานทางราชการหรือหน่วยงานว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นในข้อ 8 ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) และให้บันทึกข้อมูลผู้โดยสารโดยระบุชื่อ ที่อยู่ ที่พักปัจจุบันหรือภูมิลำเนา และระบุวัตถุประสงค์ในการเดินทางตามเอกสาร ต.8 ด้วย เพื่อประกอบการซื้อ/จำหน่วย ตั๋วโดยสาร

รมว.คมนาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ขยายเวลาการต่อใบอนุญาตต่างๆ เช่น ใบขับขี่ เป็นต้น โดยให้ขยายเวลาไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว่า ในช่วงวันที่ 1-26 มี.ค.63 มีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง รวมกว่า 1,525,000 คน ทางบก 1.3 แสนเที่ยว มีผู้โดยสารเดินทาง 1,917,108 คน ส่วนทางราง ทั้งรถไฟฟ้า MRT รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟ เดินทาง 412,542 คน ส่วนทางเรือ มีผู้โดยสาร 1.3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเดินทางในช่วงวันที่ 21-26 มี.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เดินทางลดลงทั้งทางอากาศ ทางราง ทางบก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top