พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. กล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุมวันนี้มีเพียงผู้รับผิดชอบกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะต้องการประชุมกับฝ่ายปฎิบัติ เพื่อปรับให้รูปแบบการทำงานรวดเร็วขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง
พร้อมทั้งสั่งการให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าประชุมด้วยทุกครั้ง เพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม รวมทั้งตัวแทนจากกระทรวงการคลังต้องเข้าร่วมด้วย เพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อจะได้รับทราบแนวปฏิบัติตามที่สั่งการ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ต่อไป
สำหรับการประชุมวันนี้ มีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยเป็นการรายงานการติดตามงาน ทั้งในด้านสาธารณสุข ด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์ ด้านการต่างประเทศ, การช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ, การแก้ไขสถานการณ์ด้านความมั่นคง, การปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท และภาพรวมหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้เข้าวันที่ 2
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ที่เริ่มปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ขอให้ระมัดระวังตัวเองให้ปลอดภัย มีความอดทน เสียสละ และให้อภัย พร้อมทั้งสั่งการผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ดำเนินการ และขอความร่วมมือประชาชน 10 ข้อ ดังนี้
- ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางไปต่างจังหวัด หากมีความจำเป็นให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค เช่น กักตัวเอง 14 วัน
- ให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด สำหรับผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อติดตามป้องกันควบคุมโรค
- ให้ประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและครอบครัว
- ให้ประชาชนยึดหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ให้ประชาชนดูแลตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ไม่มั่วสุม
- ให้เจ้าหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และสถานที่ให้เพียงพอกับผู้ป่วย
- ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า ไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เช่น ราคาไข่ไก่ ฯลฯ
- ให้เจ้าหน้าที่แก้ไขกฎระเบียบการจัดซื้อ และลดภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์
- ให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
- ให้เจ้าหน้าที่ดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และชาวต่างชาติในไทยที่มีใบอนุญาตให้ทำงาน
สำหรับการติดตามตัวผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดนั้น รัฐบาลได้ต่อยอดใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชัน AOT Airports ที่ใช้ติดตามตัวคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ โดยได้ปรับปรุงให้ใช้งานสะดวกขึ้น เพื่อให้แต่ละจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ไปพบกับคนกลุ่มเสี่ยง และให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันดังกล่าว โดยระบุสถานที่กักกันตัวเอง 14 วัน และทุกวันต้องรายงานตัวผ่านระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสัญลักษณ์สีต่าง ๆ ว่ายังคงกักกันตัวและปลอดภัยหรือไม่ และหากผู้ใช้ออกจากสถานที่กักกันเกิน 50 เมตร ไม่รายงานตัว หรือปิดแอพ เจ้าหน้าที่จะทราบข้อมูล และลงไปตามหาตัวในพื้นที่ได้ทันที ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้งานแล้วที่ จ.บุรีรัมย์
นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองที่ประจำจุดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ใช้ในการตรวจสอบว่าบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รายงานตัวและกักกันตัวเองครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ได้อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงการคลัง, นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วิษณุ เครืองาม, ศบค., โควิด-19