นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงตลาดตราสารหนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเกิดอาการตื่นตระหนกและไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมากในวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นเฉพาะกับ 2 กองทุนรวมตราสารหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) แห่งหนึ่ง ซึ่งถูกไถ่ถอนจนถึงระดับที่ไม่สามารถสร้างสมดุลได้ระหว่างความเสี่ยงและสภาพคล่อง เพื่อรองรับการไถ่ถอนเป็นจำนวนมาก ทาง บลจ. แห่งนั้นจึงจำเป็นต้องประกาศขอยกเลิกโครงการกองทุนทั้ง 2 กองทุนดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น รวมถึงตลาดตราสารหนี้มีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะ 2 กองทุนดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งผลกระทบของการประกาศขอยกเลิกโครงการกองทุนทั้ง 2 กองทุนดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
มาตรการที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้ช่วยสร้างเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ดีขึ้นสะท้อนถึงมูลค่าหน่วยลงทุน และมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนน้อยลง
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานก.ล.ต. ได้มีมาตรการเพิ่มเติมในวันที่ 24 มีนาคม 2563 ผ่อนผันให้ กองทุนรวมตราสารหนี้ สามารถสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมจากเดิมที่ 10% เป็น 30% (Repurchase Agreement :REPO) ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน
ขณะที่การประกาศขอยกเลิกโครงการกองทุนของ 2 กองทุนดังกล่าว อันเกิดการไถ่ถอนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดตราสารหนี้ได้ นอกจากนี้ สัดส่วนของขนาดกองทุนรวมของ 2 กองทุนดังกล่าว ณ ปัจจุบัน มีขนาดลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวม จึงส่งผลกระทบน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่าจะมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบอีกหรือไม่ โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมและเพียงพอ ขณะที่ผู้จัดการกองทุนในหลายบลจ.ต่างยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดีขึ้น ซึ่งจะใช้เครื่องมือตามมาตรการเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
อนึ่ง บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) ได้แจ้งเลิกกองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ หลังจากที่มียอดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของทั้งสองกองทุนนับแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของแต่ละกองทุน และเป็นที่เชื่อได้ว่าการเทขายอย่างรุนแรงจะยังคงมีได้ต่อเนื่อง ขณะที่การเร่งการขายสินทรัพย์ในตลาดตราสารหนี้ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 63)
Tags: AIMC, TMBAM, ธปท., นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, บลจ.ทหารไทย, วศิน วณิชย์วรนันต์