สำนักข่าวเกียวโดได้ทำการคัดเลือก 10 อันดับข่าวเด่นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลกในปี 2562 ดังนี้
(1) เหตุประท้วงรุนแรงในฮ่องกง และผลการเลือกตั้งสภาเขตฮ่องกงซึ่งพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย
การประท้วงในฮ่องกง เป็นหนึ่งในเหตุการณ์การประท้วงที่สร้างปรากฎการณ์และแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งลุกลามบานปลายไปสู่การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการแยกฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ สถานการณ์ตึงเครียดอย่างต่อเนื่องและในที่สุดการประท้วงที่ยืดเยื้อก็กลายเป็นเหตุรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต
นอกจากนี้ พรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยสามารถคว้าคะแนนเสียงในสภาเขตไปได้ถึง 85% ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตฮ่องกง ซึ่งการที่ชาวฮ่องกงได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตในจำนวนมากเป็นประวัติการณ์นั้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจรัฐบาล
(2) ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ย่ำแย่ ขณะข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองทางทหารหมดอายุ
ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถูกสั่นคลอน หลังศาลสูงสุดของเกาหลีใต้สั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นได้ยึดคาบสมุทรเกาหลีเป็นอาณานิคมในปี 2453-2488
เพื่อเป็นการตอบโต้ ญี่ปุ่นได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัสดุที่ใช้สำหรับการผลิตชิพและจอแสดงผล ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังได้ถอดถอนชื่อเกาหลีใต้ออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษด้านการส่งออกสินค้าทางเทคโนโลยีและทางทหาร หรือ “whitelist” พร้อมอ้างว่าเกาหลีใต้อาจนำสินค้าส่งออกไปใช้ในทางทหารได้
ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้จึงขู่ญี่ปุ่นว่าจะยุติการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองทางทหาร โดยจะปล่อยให้ข้อตกลงดังกล่าวหมดอายุในเดือนพ.ย. ก่อนที่จะเปลี่ยนการตัดสินใจในนาทีสุดท้าย
(3) สหรัฐและจีนบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรก
สหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าบางส่วนในเดือนธ.ค. โดยสหรัฐจะไม่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติม และได้ปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อแลกกับการที่จีนได้สั่งซื้อสินค้าการเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การทำสงครามการค้าระหว่างสองประเทศยังไม่จบลง เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่สหรัฐกล่าวว่าจีนไม่ยอมทำตามสัญญา
(4) พรรคอนุรักษ์นิยมคว้าชัยในการเลือกตั้งอังกฤษ ปูทางสู่ Brexit ในเดือนม.ค.
พรรคอนุรักษ์นิยมของนายบอริส จอห์นสัน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยสามารถคว้า 364 ที่นั่งในสภาสามัญชน หรือสภาล่างของอังกฤษ ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2530 และมากกว่าเพดานเสียงข้างมากที่กำหนดไว้ที่ 326 ที่นั่งสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ การเลือกตั้งดังกล่าวได้ปูทางให้อังกฤษสามารถออกจากสหภาพยุโรปได้ภายในวันที่ 31 ม.ค.
(5) การประชุม “ทรัมป์-คิม” คว้าน้ำเหลว หวั่นเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง
ความคืบหน้าในการยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือดูเหมือนจะไม่เป็นดั่งหวัง แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือจะได้ร่วมประชุมกันถึง 2 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ มีกระแสคาดการณ์ว่า เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป หรืออาจกระทำการยั่วยุอื่นๆ ในขณะที่การเจรจากับสหรัฐหยุดชะงักลง โดยก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้ขีดเส้นตายให้สหรัฐสร้างความคืบหน้าด้านการเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงปลายปีนี้
แหล่งข่าวระบุว่า การยั่วยุจากเกาหลีเหนืออาจบีบบังคับให้สหรัฐต้องใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วนได้เรียกร้องให้มีการกดดันเกาหลีเหนือขั้นสูงสุด
(6) สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF)
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐได้ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF โดยอ้างถึงการละเมิดข้อตกลงของรัสเซียที่สหรัฐเชื่อว่า “ทำให้สหรัฐอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบด้านกองทัพ” ในขณะที่รัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐหลายครั้ง
ทั้งนี้ สนธิสัญญา INF มีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้ทั้งสหรัฐและรัสเซียติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธภาคพื้นดินระยะสั้นและระยะกลางในยุโรป โดยสหรัฐได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาดังกล่าวตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนก่อน และต่อมาได้ประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF กับรัสเซียเมื่อวันที่ 2 ส.ค. โดยกล่าวหาว่ารัสเซียเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลง ขณะที่รัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
(7) ความตึงเครียดสหรัฐ-อิหร่านทวีความรุนแรง หลังสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์
ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งภายหลังถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน สหรัฐได้กดดันอิหร่านผ่านการคว่ำบาตรหลายครั้ง โดยเฉพาะในภาคพลังงานและการเงิน
ด้านอิหร่านก็ได้ออกมาตอบโต้ด้วยการเร่งเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม แม้จะเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ พร้อมระบุว่า ทางการอิหร่านสามารถยกเลิกการกระทำดังกล่าวได้ทันทีที่สหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตร
(8) “เกรต้า ธันเบิร์ก” สาวน้อยผู้รักษ์โลก ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม UN
เกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหววัย 16 ปี จากสวีเดน ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวประณามผู้นำโลกที่เพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์โลกร้อน
ทั้งนี้ ธันเบิร์กได้เริ่มทำให้สังคมตระหนักถึงภัยโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกของเรา ด้วยการตัดสินใจไม่เข้าชั้นเรียนทุกวันศุกร์ และไปนั่งอยู่ด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมกับชูป้ายแผ่นไม้ที่เขียนด้วยลายมือตนเองว่า “ไม่เรียนหนังสือเพื่อประท้วงโลกร้อน” นอกจากนั้น เธอยังทำใบปลิว อธิบายความรุนแรงของภาวะโลกร้อนให้คนที่ผ่านไปมาได้อ่าน โดยนิตยสารไทม์ได้ประกาศยกย่องให้ธันเบิร์กเป็น “บุคคลแห่งปี” ประจำปี 2562
(9) เหตุเพลิงไหม้มหาวิหารน็อทร์-ดามในกรุงปารีส
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่มหาวิหารน็อทร์-ดาม โดยภาพวิดีโอออนไลน์ได้แสดงให้เห็นกลุ่มควันหนาแน่นจากด้านบนของวิหาร และเปลวไฟขนาดใหญ่ระหว่างหอระฆังทั้งสอง ซึ่งลุกลามท่วมหลังคาและยอดหอคอยก่อนที่จะถล่มลง
ทางด้านมหาเศรษฐี ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ให้คำมั่นที่จะบริจาคเงินรวมหลายร้อยล้านยูโรเพื่อใช้ในการบูรณะฟื้นฟูมหาวิหารน็อทร์-ดาม ให้ฟื้นกลับคืนมาใหม่ โดยนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดของฝรั่งเศส 2 ราย ได้แก่ นายฟรองซัวส์-อองรี ปิโนต์ ซีอีโอกลุ่มบริษัทเคอริ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์หรูอย่าง กุชชี่ และ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ และนายแบร์นาร์ อาร์โนต์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัท LVMH เปิดเผยว่าจะบริจาคเงิน 100 ล้านยูโร (113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ 200 ล้านยูโร ตามลำดับ
(10) สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติถอดถอน “ทรัมป์” เซ่นปมยูเครน
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งสองข้อหา ซึ่งได้แก่ การใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส ส่งผลให้ปธน.ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐรายที่ 3 ที่ถูกพิจารณาถอดถอนในขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ
ทั้งนี้ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนปธน.ทรัมป์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อกดดันให้มีการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และบุตรชายของเขา ซึ่งมีการทำธุรกิจในยูเครน โดยการกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 62)