จับตาการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) คนที่ 16 คนที่ชาว กทม.จะฝากความหวังให้เข้ามาแก้สารพัดปัญหาทั้งรถติด ขยะ ฝุ่นพิษ หาบเร่แผงลอย จักรยานยนต์ขับขี่-จอดกีดขวางทางเท้า ปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อแตก คนจรจัด สุนัข-แมวจรจัดไร้การควบคุม ไฟฟ้าส่องสว่างไม่ทั่วถึง และอีกจิปาถะที่คนกรุงเทพต้องเผชิญจนกลายเป็นเรื่องชินชาไปแล้ว
แม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดวันในการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็พอคาดได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปี ความน่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้อยู่ที่ “ผู้สมัครอิสระ” หลังจากคนดังประกาศตัวจะลงสนามชิงเก้าอี้รอบนี้
“รสนา” ชูนโยบายเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ โดยคนกรุงเทพฯ เพื่อคนกรุงเทพฯ
“รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)” ชิงเปิดตัวเป็นคนแรก โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า”ตอบรับเสียงสนับสนุนของพี่น้องประชาชน ให้ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.”…กรุงเทพฯใหญ่โต และมีปัญหาสะสมมากมาย จำเป็นที่ต้องระดมความรู้ และปัญญาของสังคมมาช่วยกันแก้ไข ปัญหามากมายอาจเกิดจากความไร้ธรรมาภิบาลในการบริหาร และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
“ดิฉันเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯให้เป็นบ้านที่ร่มเย็นเป็นสุขสำหรับทุกคน เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกภาคส่วน เพราะสังคมดีไม่มีขาย และไม่มีใครดลบันดาลให้ แต่จะเกิดขึ้นได้ด้วยมือของชาว กทม.” และจะเดินสายรับฟังความต้องการของประชาคมทุกภาคส่วนของกรุงเทพฯ เพราะอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เพื่อนำมาทำเป็นนโยบายเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯโดยคนกรุงเทพฯเพื่อทุกคนในกรุงเทพฯ” น.ส.รสนา ระบุ
“ชัชชาติ” ทิ้งเพื่อไทยลงสนามแบบไร้สังกัด
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”จัดกิจกรรม “ชัชชาติ ชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด” แสดงเจตจำนงและความพร้อมลงเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในนามอิสระเพราะมีคนจำนวนมากที่เบื่อกับการเมือง ยิ่งสถานการณ์ และสภาพปัจจุบัน คนยิ่งเบื่อหนัก แต่ทุกคนต้องการเห็น กทม. และประเทศไทย ดีขึ้น ดังนั้นจึงพิจารณาว่ามีทางเลือกไหนหรือไม่ ที่สามารถไปด้วยกันได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ได้พูดคุยกับหัวหน้าพรรคแล้ว และอธิบายเหตุผลไปแล้ว และแม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย แต่ก็ได้นำปรัชญาของพรรคเพื่อไทยมาปฏิบัติ คือ การลงพื้นที่และการดูแลประชาชน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี จึงต่อยอด อีกทั้งต้องการหาแนวร่วมพัฒนาพื้นที่ กทม. การทำงานในส่วนของ กทม.จำเป็นต้องอาศัยแนวร่วมเป็นจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาเมือง
“การทำงานดูแลกรุงเทพมหานครที่ต้องประสานงานจำนวน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการลงอิสระจะได้แนวร่วมมากขึ้น และจะมีความคล่องตัวมากกว่า”
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ 7 เดือนที่ผ่านมา พบนโยบายที่ดีซึ่งซ่อนอยู่ แต่ไปไม่ถึงนโยบายที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นการพัฒนา กทม. หัวใจสำคัญคือประชาชน
“อุเทน” ขอ 500 วัน ทำไม่ได้ลาออกทันที
“อุเทน ชาติภิญโญ” อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย แถลงเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ พร้อมทำงานแก้ไขปัญหาทันที หากใน 500 วันทำไม่ได้จะลาออก ชูนโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่ด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ มุ่งแก้ปัญหารถติด น้ำท่วมซ้ำซากด้วยความเด็ดขาดของตน และด้านการศึกษา
ในส่วนของการแก้ปัญหารถติด จะปรับระบบสัญญาณไฟจราจรใหม่ให้เหมือนที่ญี่ปุ่น คือ เปิดไฟสัญญาณจราจรเหมือนกันตลอดทั้งเส้นถนน และต้องมีที่จอดรถสาธารณะในทุกอาคารหรือคอนโดมิเนียม ไม่ควรมีป้ายรถประจำทางหรือจุดกลับรถถี่มากเกินไป ไม่เช่นนั้นรถก็จะชะลอตัว ส่วนปัญหารถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า จะใช้เทศบัญญัติการย้ายถิ่นฐานเข้ามาควบคุม หากเทศกิจพบผู้กระทำผิดไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ต้องย้ายที่อยู่กลับไปภูมิลำเนา ให้เหลือแต่คนเคารพกฏภายในกรุงเทพฯ สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ต้องทำให้ค่าเดินทางถูกลงกว่าเดิม
สำหรับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดจากการที่กรุงเทพฯ สร้างเขื่อนล้อมเมือง ตะแกรงระบายน้ำตันทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ส่วนปัญหาการจราจรติดขัด ตนมีทีมวิศวกรพร้อมออกแบบจุดจอดรถ และเส้นทางคมนาคมในกรุงเทพฯ
ส่วนปัญหาการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จะยึดรูปแบบโรงเรียนอินเตอร์มาปรับใช้
ขณะที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ยังนิ่งเงียบ อุบไต๋ คาดว่ายังต้องใช้เวลาและขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งอาจจะต้องผ่านที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค รอมติพรรคคัดเลือกความเหมาะสมของตัวบุคคลที่ต้องมีความพร้อมเข้ามาทำงานแก้ปัญหาให้ชาว กทม. ที่มีสารพัดปัญหา
จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นต่อนักการเมืองสมัยนี้ว่า “นักการเมืองน่าเบื่อ ไม่มีจริยธรรม ยิ่งถ้าสังกัดพรรคการเมืองไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง จะทำอะไรก็ต้องรอพรรค บางเรื่องตัวบุคคลคิดอย่างนึง พรรคคิดอีกอย่างนึงสุดท้ายก็ต้องเอาตามความเห็นพรรค ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง พวกมากลากไป
หากทำงานการเมืองแบบอิสระน่าจะตัดสินใจได้ดีและรวดเร็วกว่าการทำงานภายใต้สังกัดพรรคการเมือ…แต่ถ้าสังกัดพรรคการเมืองก็อยากได้คนที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลจะได้ทำงานเต็มที่ จะทำอะไรไม่ต้องเกรงใจรัฐบาล
สำรวจสเปคคนกรุง
สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สเปค ของผู้ว่าฯ กทม. ที่คนกรุงต้องการ เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด พบว่า ส่วนใหญ่ 64.0% ยังไม่มีใครในใจ ในขณะที่ 36.0% ระบุมีพรรคการเมืองที่จะเลือกในใจแล้ว
ส่วนลักษณะ หรือ สเปค ของผู้ว่าฯ กทม.ที่ต้องการ พบว่าส่วนใหญ่ถึง 83.8% ระบุซื่อสัตย์สุจริตไม่พัวพันทุจริตคอรัปชั่น รองลงมา 74.3% ระบุแก้ปัญหาเก่ง รวดเร็ว ไม่ขายฝัน พูดจริงทำจริง มีผลงาน และ 24.5% ระบุอื่นๆ เช่น ของเป็นคนรุ่นใหม่ การศึกษาดี เสียสละ นโยบายจับต้องได้ น่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จัก เป็นต้น
ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้แก้ไข พบว่า อันดับ 1 หรือ 79.6% ระบุปัญหาจราจร รถติด ความปลอดภัยทางถนน อุบัติเหตุ คนขาดวินัยจราจร รองลงมา 56.9% เรื่องค่าครองชีพ ของแพง ทำมาหากินไม่ได้, 55.1% ระบุน้ำท่วมขัง, 51.1% ระบุ มลพิษ ขยะเน่าเหม็น สิ่งแวดล้อม, 50.4% ระบุ อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, 38.9% ระบุ ปัญหาการให้บริการ รถโดยสาร ขนส่งมวลชน, 27.7% ระบุถูกเรียกรับผลประโยชน์ ทุจริตคอรัปชั่น และ 28.6% ระบุอื่น ๆ เช่น การศึกษา ยาเสพติด และไฟส่องสว่าง เป็นต้น
ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พบว่า ส่วนใหญ่อยากได้ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่มีคุณสมบัติมีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ รองลงมาคือมีความซื่อสัตย์โปร่งใส, มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม, มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความขยันทุ่มเทในการทำงานตามลำดับ
ในส่วนของนโยบายที่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ให้ความสำคัญ อันดับที่หนึ่ง คือ ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ รองลงมาคือด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต, ด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อม, ด้านการจราจรและขนส่งมวลชน, ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตาลำดับ
นโยบายที่อยากให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากที่สุด อันดับที่หนึ่ง 28.8% คือ ปัญหาการคอร์รัปชัน อันดับที่สอง 23.4% คือ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันดับที่สาม 9.0% คือ ปัญหาการจัดการน้ำเสีย อันดับที่สี่ 8.6% คือ ปัญหาสถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย และอันดับที่ห้า 8.0% คือ ปัญหาการกีดขวางทางเท้า (ฟุตบาธ)
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าบุคคลที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.มากที่สุด อันดับที่หนึ่ง คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 21.3% อันดับที่สอง 20.8% คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับที่สาม 16.3% คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับที่สี่ 14.8% คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับที่ห้า 8.7% คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
ปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกผู้ว่าฯกทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด คือ ตัวผู้สมัคร 62.5% รองลงมาคือพรรคการเมืองที่สังกัด 37.5%
จะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง นี่คือที่มาที่ทำให้มีบุคคลลงสมัครในนามอิสระมากกว่าการสังกัดพรรคการเมือง
สุดท้าย..ใครจะมาแรงแซงทางโค้งคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ไปครอง คงต้องจับตารอดูการเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่คาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาเร็วๆนี้ ทั้งผู้สมัครในนามอิสระ ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง รวมทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 62)