“วันนี้เงินบาทแข็งค่าเนื่องจากมีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบกับมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวดี ซึ่งเป็นจังหวะดีที่ควรนำเงินไปลงทุนให้มากขึ้น”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020” ในงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020 ว่า ในปี 2563 ไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ อาทิ ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกและความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวของทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่อาจเป็นผลดีต่อการลงทุนและการส่งออกของไทย ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากการใช้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on Arrival) รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดียที่คาดว่าจะเข้ามาต่อเนื่อง
“วันนี้เงินบาทแข็งค่าเนื่องจากมีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบกับมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวดี ซึ่งเป็นจังหวะดีที่ควรนำเงินไปลงทุนให้มากขึ้น”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนฐานแนวคิด “การต่อยอดอดีต การปรับปัจจุบัน และการสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต”เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ
ทั้งนี้ การจะนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปปฏิบัติให้บรรลุผลได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ แผนแม่บทด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านการท่องเที่ยว ด้านพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล และด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายในระยะแรก (ปี 2565) ให้เป็นรูปธรรม และตั้งเป้าทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยขยายตัวให้ได้ 5%
“การทำงานจำเป็นต้องมีกรอบยุทธศาสตร์เพื่อให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน โดยเอาเป้าหมายเป็นตัวกำหนด ผมรู้ว่าทุกคนรักชาติเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นใครต้องร่วมมือกัน มีความสงบสุข ไม่ขัดแย้งกันเหมือนในอดีต เพราะประเทศไทยมีข้อดีและโอกาสมากกว่าอีกหลายประเทศ ขณะที่ความขัดแย้งในโลกมีมากขึ้น เศรษฐกิจโลกมีปัญหา สถานการณ์ของเรายังไม่เลวร้าย การทำงานของตนเองในช่วงที่ผ่านมานั้นต้องดูแลเรื่องนโยบายเป็นสำคัญ ถ้าทุกคนขับเคลื่อนแต่เรื่องของตัวเองจะแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องรักษาสมดุล ไม่สามารถที่จะเอาประโยชน์เพียงอย่างเดียว วันนี้รากฐานเศรษฐกิจกว้างขึ้น แต่เราจะทำอย่างไรให้ก้าวทัน เพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตแบบก้าวกระโดด การพัฒนาต้องอาศัยปัญญาประดิษฐ์ Big Data”
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางการค้า รวมทั้งเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในหลายประเทศ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลก
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต และการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกขนาดและทุกรูปแบบธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานหรือรายได้ให้กับแรงงาน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
นอกจากนี้ รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการปรับบริบทการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ การปฎิรูปกฎหมายให้ทันสมัยและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน การพัฒนาการให้บริการประชาชนให้ดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น และการจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ปัญหาฝุ่นมลพิษ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรม
“รู้ว่าทุกคนต้องการความช่วยเหลือ แต่งบประมาณมีจำกัด การให้งบจึงต้องพิจารณาตามความจำเป็น และความยั่งยืนอย่างเช่นผู้ประกอบการต้องปรับปรุงเรื่องกระบวนการผลิต เพราะในอนาคตแรงงานต่างด้าวก็จะกลับประเทศ…นโยบายชิมช้อปใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ทั้งระบบ และการกำหนดนโยบายต้องเป็นไปตามบริบทของแต่ละประเทศ”
ขณะที่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปอุดหนุนได้มากนัก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นปีละ 3.8% จากปกติที่เพิ่มขึ้นปีละ 1-2% ซึ่งต้องหาทางที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทุกเรื่องต้องตั้งเป้าหมายไว้ทั้งสิ้น แม้จะดูว่าเป็นความทะเยอทะยาน แต่หากทำไม่เช่นนั้นจะทำให้การทำงานไร้จุดหมาย
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลรออยู่คืองบฯปี 63 ที่คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยสามารถเบิกจ่ายได้ราวเดือน ก.พ.63 ช่วงนี้จึงเป็นงบสำรองใช้ไปก่อน รัฐบาลนี้ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทุกเรื่องซึ่งไม่ได้เกิดจากรัฐบาล
“ไม่สนใจว่าใครจะได้ผลประโยชน์ แต่ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดให้ปัญหาหมดไป อย่างเช่นเรื่องการยกเลิกใช้สารพิษแล้วจะใช้อะไรทดแทน ขอให้เกิดความชัดเจน ไม่ได้ขัดแย้งกับใครเพราะอยากให้มีการยกเลิกอยู่แล้ว”
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของคนในชาติ จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะทุกปัญหาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 62)
Tags: จีดีพี, วิสัยทัศน์ประเทศไทย2020, เศรษฐกิจไทย