- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันที่ 13 เม.ย. 2563 (เวลา 12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยอดสะสม 2,579 คน (+28)
- รักษาหายแล้ว 1,288 คน (+70)
- ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 1,251 คน
- เสียชีวิต 40 คน (+2)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศล่าสุดวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มขึ้น 28 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,579 คน จำนวนผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้วรวมทั้งสิ้น 1,288 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 คน รวมเป็นผู้เสียชีวิตสะสม 40 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทยวัย 56 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.เข้ารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการวันที่ 14 มี.ค.ด้วยอาการไข้ 38 องศาฯ ไอ หอบเหนื่อย แพทย์ระบุว่าสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่จึงส่งตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ เอ และ บี รวมทั้งโควิด-19 ผลตรวจไข้หวัดเป็นลบ แต่ยืนยันเป็นโควิด-19 จากนั้นในวันที่ 23 มี.ค.อาการเหนื่อยหอบมากขึ้นจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลงในวันที่ 12 เม.ย.
ส่วนอีกรายเป็นชายไทยวัย 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ด้วยอาการไข้สูง 39.4 องศาฯ ไอ มีน้ำมูก เหนื่อย ถ่ายเหลว เข้ารักษาอาการที่ รพ.ในกทม.และแพทย์รักษาแล้วให้กลับบ้าน จากนั้นวันที่ 5 เม.ย.อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้า รพ.แห่งเดิม วินิจฉัยพบปอดติดเชื้อจึงส่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.อาการแย่ลง หอบเหนื่อยมากขึ้น และออกซิเจนในเลือดต่ำ จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 11 เม.ย.ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร 12 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรี 2 ราย ยะลา 2 ราย สตูล 2 ราย ชุมพร 1 ราย นครพนม 1 ราย นนทบุรี 1 ราย เลย 1 ราย
ด้านประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 25 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 18 ราย และอีก 7 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ได้แก่ เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย, ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย, ทำอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือ ทำงานใกล้ชิดสัมผัสกับชาวต่างชาติ 2 ราย เป็นบุคลาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3 ราย
กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantines 3 ราย แบ่งเป็น สตูล 2 ราย ยะลา 1 ราย มาจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้พบว่ากลุ่มก้อนที่มาจากอินโดนีเซียสะสมตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. รวมแล้ว 61 ราย
สำหรับผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย ใน 68 จังหวัด อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,306 ราย ภูเก็ต 182 ราย นนทบุรี (ผู้ป่วยสถาบันบำราศนราดูร และสถาบันโรคทรวงอก) 150 ราย สมุทรปราการ 105 ราย ยะลา 84 ราย ชลบุรี 78 ราย ปัตตานี 77 ราย สงขลา 56 ราย เชียงใหม่ 40 ราย ปทุมธานี 33 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 72 ราย
ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อดูภาพแยกระหว่างกรุงเทพฯและนนทบุรี กับต่างจังหวัดพบว่า แนวโน้มของต่างจังหวัดลดลง ขณะที่กรุงเทพฯขึ้นๆลงๆ แต่แนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ก่อนมากพอสมควร และ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯและนนทบุรีกับภาคใต้พบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงสุดอันดับ 1 และอันดับ 2 สลับกันไปตลอด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงในส่วนจ.ภูเก็ตว่า มีผู้ป่วยสะสมรวม 182 ราย มีกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อจากสถานบันเทิงมากที่สุด 71 ราย รองลงมาเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 33 ราย อาชีพเสี่ยง 33 ราย คนต่างชาติ 10 ราย คนไทยจากต่างประเทศ 4 ราย ในส่วนของมาตรการที่ดำเนินการใน จ.ภูเก็ต พบว่า มีการปิดสถานบันเทิงเริ่มวันที่ 18 มี.ค. แต่กราฟยังสูง จนพีควันที่ 23 มี.ค. ต้องมีมาตรการเพิ่ม ปิดซอยบางลา นวดแผนไทย สนามกีฬา โรงแรม หาดป่าตอง ถึงกดตัวเลขลงไปได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาหายต่อวันได้เพิ่มแซงหน้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว โดยในวันนี้มียอดผู้รักษาหายแล้ว 70 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของไทยที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่มียอดผู้รักษาหายมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน จะทำให้เตียงรักษาในโรงพยาบาลว่างมากขึ้น เพราะคนเข้ามาสู่ระบบน้อย แต่ออกไปเยอะมากขึ้น ทำให้มีเตียงรักษาที่รองรับผู้ป่วยใหม่ได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า จากจำนวนตัวเลขที่ลดลงทำให้มีเอกชนบางแห่งยกเลิกการทำงานที่บ้านแล้ว จะเป็นการทำให้ความเสี่ยงกลับมาได้หรือไม่นั้น โฆษก ศบค. กล่าวว่า ยังไม่อยากให้ผ่อนคลายกันมาก สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือ สถานการณ์ภายในประเทศเรามีการล้อมรั้วดูแลภายในได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าสถานการณ์ต่างประเทศยังคงมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นซึ่งสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ
ส่วนการที่ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ นั้น ถ้าตัวเลขต่างๆดี แต่ต้องมั่นใจจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อน ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันในคณะกรรมการวิชาการ ที่อยู่ในพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นผู้วางมาตรการนี้ ซึ่งขณะนี้มีการประชุมหารือกันอยู่กันอยู่ เตรียมข้อมูลชุดนี้อยู่ ต้องให้มั่นใจจริงๆ ถึงจะผ่อนคลาย
“เรายังอยู่ในวงล้อมของสถานการณ์การติดเชื้อแบบพุ่งชันขึ้นไปของทั่วโลก มีแต่บ้านเราเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ เพราะเราเข้มแข็ง เพราะเราช่วยกัน อย่างที่เคยบอก ช่วยกัน 70% ไม่ได้ผลในการลดตัวเลข ช่วยกัน 80%ทำเหมือนกันหมด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็ไม่ได้ลดตัวเลข ต้อง 90% ขึ้นไปถึงจะลดตัวเลขได้ อย่างที่บอกการ์ดตกลงมาหน่อยนึง ไม่เอา 90% เอา 80% ได้มั้ย พุ่งพรวดเลยนะครับตัวเลข ถ้าการ์ดตกเหลือ 70% ยิ่งชันเข้าไปใหญ่เลย เพราะฉะนั้นคน 90% ของประเทศไทย ถ้าเรามี 65 ล้านคน เราต้องการทุกท่านเป็นแนวร่วมของเรา 65 ล้านคน ทุกคนต้องช่วยกันยาวเลยไปถึงกลางเดือน ถึงสิ้นเดือน ถึงต้นเดือนหน้า มีการพยากรณ์ว่าโรคนี้จะอยู่กับเรา 3-4 เดือน ถ้าท่านไม่มีการติดเชื้อและเป็นพื้นที่กว้างๆ การผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้นตามจังหวัด ตามภาค ตามพื้นที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19